จากการตรวจสอบ ภายหลังจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มีการทำหนังสือเพื่อขออนุญาตนำเข้าปลาตระกูลปลานิล ขนาด 4-6 ซม. จากประเทศกานา จำนวน 5,000 ตัว เพื่อทดลองประสิทธิภาพการเจริญเติมโตของปลาผสม โดยหนังสือหนังสือฉบับดังกล่าวลงวันที่ 18 ต.ค. 2549 แต่ต่อมาบริษัทได้มีการขอยกเลิกการนำเข้าเนื่องจากไม่สามารถหาพันธุ์ปลาได้ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ต่อมาบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 24 มีนาคม 2553 ถึง ผู้อำนวยการส่วนอนุญาตและจัดการกรมประมง เพื่อขอใบอนุญาตการนำเข้าฯ ปลานิลจากประเทศสาธารณรัฐกานา โดยเนื้อหาในเอกสารระบุว่า ทางบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) ได้ทำการยื่นขอหนังสืออนุญาตให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ขอนำเข้าปลาดุกรัสเซีย (Clarids gariepinus) ฉบับที่ 73/2552 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2551 และปลานิล (-Sarotherodor melanotheron) ฉบับที่ 74/2552 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2551 เป็นจำนวนรวม 2 ฉบับ แต่ทางบริษัทฯ ยังมิได้มีการนำเข้านับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตฯ ประมง เนื่องจากทางผู้ขายยังไม่สามารถทำการจัดส่งให้ได้ และใบอนุญาตฯ ทั้ง 2 ฉบับนั้น ได้หมดอายุลงแล้ว ณ วันนี้ทางผู้ขายแจ้งให้ทราบว่าจะสามารถทำการส่งปลานิล (Sarotherodor eron) ให้ได้ประมาณสัปดาห์ที่ 3 หรือ 4 ของเดือนเมษายนนี้ ทางบริษัทฯ จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ทางกรมประมงฯ ออกใบอนุญาตให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักรไทย สำหรับปลานิล (Sarotherodon melanotheron) ฉบับใหม่ให้กับทางบริษัทฯ ด้วย
ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2553 คณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง (IBO) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 2/2553 ตั้งแต่เวลา 09.30-12.00 น. ที่ห้องประชุมยี่สก ชั้น 2 ตึกจุฬาภรณ์ กรมประมง โดยการประชุมในวาระ 4.3 เรื่องการขอนำเข้าลูกปลานิล (Saratherodon melanotheron) จำนวน 5,000 ตัว จากประเทศสาธารณรัฐกานา เพื่อปรับปรุงพันธุ์ โดยขอใช้สิทธิจากการได้รับอนุญาตให้นำเข้าตั้งแต่ปี 2551 แต่ยังไม่ได้นำเข้า มติที่ประชุมอนุญาตให้นำเข้า เนื่องจากเป็นเรื่องเดิมที่เคยอนุญาตแล้ว ภายใต้เงื่อนไขเดิมคือให้ 1.กรมประมงเก็บตัวอย่างครีบโดยไม่ทำให้ปลาตายอย่างน้อย 3 ตัว 2.เมื่อสิ้นสุดการทดลองให้ผู้ขอนำเข้าแจ้งผลการทดลองแก่กรมประมง 3.ควรมีการป้องกัน ไม่ให้ลัตว์ทดลองหลุดรอดไปในธรรมชาติ 4.ในกรณีที่การทดลองได้ผลไม่ดี ผู้ขอนำเข้าไม่ประสงค์จะใช้ปลาต่อไป ขอให้ทำลายและเก็บซากไว้ให้กรมประมงตรวจสอบ พร้อมนี้ให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขชื่อ จากลูกปลานิล เป็นลูกปลาหมอเทศข้างลาย
และต่อมา กรมประมง ได้มีหนังสือลงวันที่ 28 เมษายน 2553 เรื่อง ขอใบอนุญาตนำเข้าปลานิลหรือปลาหมอเทศข้างลายจากประเทศสาธารณรัฐกานา ส่งไปให้บริษัทผู้ขอ ระบุว่า เรียน กรรมการผู้จัดการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) อ้างถึง หนังสือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 24 มีนาคม 2553 ตามที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ขอนำเข้าปลานิลหรือปลาหมอเทศข้างลาย Sarotherotor melarotheror เพื่อการศึกษาวิจัย เรื่องอัตราการเจริญเติบโตเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิมจำนวน 5,000 ตัว จากประเทศสาธารณรัฐกานา นั้น
กรมประมงได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรอนุญาตให้นำเข้าได้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
1. เก็บตัวอย่างครีบดองในน้ำยาเก็บตัวอย่าง ส่งมาที่กลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำ
2. เมื่อสิ้นสุดการทดลองให้รายงานผลการศึกษา หากผลการศึกษาที่ได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และไม่ประสงค์จะทำการศึกษาต่อ ให้ทำลายปลาชุดดังกล่าวทั้งหมด โดยแจ้งกรมประมง เพื่อส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบการทำลายต่อไป