สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ว่า หลังจากมีคำพิพากษาที่น่าตกใจเกี่ยวกับการทำแท้งและประเด็นอื่น ๆ รวมถึงเรื่องอื้อฉาวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาลฎีกาสหรัฐ ซึ่งมีผู้พิพากษาส่วนใหญ่เป็นสายอนุรักษนิยม ไบเดนเรียกร้องให้มีการจำกัดวาระ การดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษาศาลสูงสุดไว้ที่ 18 ปี และประมวลจรรยาบรรณที่บังคับใช้ได้
“แนวคิดสุดโต่ง กำลังบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน ที่มีต่อคำตัดสินของศาล” ไบเดน กล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรก นับตั้งแต่ถอนตัวออกจากศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี อีกทั้งเขายังเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อพลิกคำพิพากษาล่าสุดของศาลฎีกาสหรัฐ ที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เกี่ยวกับการคุ้มครองประธานาธิบดี
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของไบเดน เกิดขึ้นหลังศาลฎีกาสหรัฐ มีคำตัดสินที่สร้างความตกตะลึงในหลายคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิกถอนสิทธิในการทำแท้งทั่วประเทศ เมื่อปี 2565 ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้ง ในวันที่ 5 พ.ย. นี้
NEW: President Biden is proposing three bold reforms to restore trust and accountability to the Supreme Court. pic.twitter.com/kpAhCQkGMB
— The White House 46 Archived (@WhiteHouse46) July 29, 2024
ด้านนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนคนใหม่ของพรรคเดโมแครต กล่าวในแถลงการณ์ว่า เธอกับไบเดน เรียกร้องให้สภาคองเกรส สนับสนุนแผนการข้างต้น โดยให้เหตุผลว่า การปฏิรูปจะช่วยฟื้นคืนความเชื่อมั่นที่มีต่อศาล, เสริมสร้างประชาธิปไตย และทำให้แน่ใจว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของไบเดน แทบไม่มีโอกาสผ่านสภาคองเกรสที่แตกแยกอย่างมาก เนื่องจากพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่นายไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวในแถลงการณ์ว่า “การเดิมพันที่อันตราย” ของไบเดนและแฮร์ริส ล้มเหลวตั้งแต่การนำเข้าสู่สภาแล้ว
แม้ศาลฎีกาสหรัฐ มีบทบาทสำคัญเป็นพิเศษ ในการตัดสินชีวิตของชาวอเมริกันทั่วไป แต่เมื่อไม่นานมานี้ ความคิดเห็นของสาธารณชนที่มีต่อสถาบันซึ่งเคยถูกมองว่า “เป็นกลาง” ในรัฐบาลสหรัฐ ได้เปลี่ยนไป โดยผลการสำรวจล่าสุดเผยให้เห็นว่า ชาวอเมริกันเกือบ 2 ใน 3 เชื่อว่า คำตัดสินของศาลฎีกา เกี่ยวกับการเมืองเป็นหลัก.
เครดิตภาพ : AFP