สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ว่า หลังเจรจานานเป็นเวลา 3 ปี และการประชุมครั้งสุดท้าย 2 สัปดาห์ในนครนิวยอร์ก รัฐสมาชิกได้ลงมติเห็นชอบ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ หลังจากนี้จะถูกส่งต่อไปยังที่ประชุมสมัชชาใหญ่ เพื่อให้รับรองอย่างเป็นทางการ

อนึ่ง คณะกรรมการร่างสนธิสัญญาได้รับการจัดตั้งขึ้น ตามการขับเคลื่อนของรัสเซียครั้งแรกเมื่อปี 2560 แม้มีเสียงคัดค้านจากสหรัฐและหลายประเทศในทวีปยุโรป

สนธิสัญญาฉบับใหม่นี้ จะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศสมาชิก 40 ประเทศ ให้สัตยาบัน มีเป้าหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับ ภาพอนาจารเด็กและการฟอกเงิน

ขณะที่ผู้แทนแอฟริกาใต้ยกย่องว่า เป็นอนุสัญญาที่มีความสำคัญ และกล่าวว่า บทบัญญัติของความช่วยเหลือทางเทคนิค และการเสริมสร้างศักยภาพ จะให้การสนับสนุนที่จำเป็นอย่างยิ่ง แก่ประเทศซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานทางไซเบอร์ที่พัฒนาน้อยกว่า

ในทางกลับกัน ผู้ที่คัดค้านสนธิสัญญา ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ประณามสนธิสัญญาดังกล่าว ว่า “มีขอบเขตกว้างเกินไป” พร้อมอ้างว่าอาจเท่ากับเป็นสนธิสัญญาเฝ้าติดตามทั่วโลก และอาจถูกนำไปใช้ในการปราบปราม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่ระบุว่า รัฐสามารถขอให้ทางการของประเทศอื่นส่งหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเชื่อมโยงกับอาชญากรรมดังกล่าว และขอข้อมูลจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เพื่อสืบสวนอาชญากรรมใดก็ตาม ที่มีบทลงโทษจำคุกขั้นต่ำเป็นเวลา 4 ปี ตามกฎหมายในประเทศของตนได้

นายนิค แอชตัน-ฮาร์ต หัวหน้าคณะผู้แทนเทคโนโลยีความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทเทคโนโลยีมากกว่า 100 แห่ง รวมถึงไมโครซอฟท์และเมตา กล่าวว่า “มันน่าเสียดาย” เนื่องจากคณะกรรมการผ่านอนุสัญญา โดยไม่ได้แก้ไขข้อบกพร่องสำคัญหลายประการ ที่ระบุโดยภาคประชาสังคม, ภาคเอกชน หรือแม้แต่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเอง

เมื่อไม่กี่วันก่อน รัสเซีย ซึ่งแสดงความสนับสนุนมาโดยตลอด กล่าวว่า สนธิสัญญามีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากเกินไป และกล่าวหาประเทศต่าง ๆ ว่า มุ่งเป้าหมายเฉพาะหน้าเพื่อประโยชน์ส่วนตน ภายใต้ค่านิยมประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน อิหร่านพยายามลบเนื้อหาหลายข้อที่มี “ข้อบกพร่องโดยธรรมชาติ”

ทั้งนี้ เนื้อหาตอนหนึ่งของอนุสัญญาระบุว่า “ห้ามตีความข้อความใดในอนุสัญญาฉบับนี้ ว่าเป็นการอนุญาตให้มีการกดขี่สิทธิมนุษยชนหรือเสรีภาพขั้นพื้นฐาน” เช่น เสรีภาพในการแสดงออก มโนธรรม ความคิดเห็น ศาสนา หรือความเชื่อ

อย่างไรก็ตาม คำขอการลบเนื้อหาถูกปฏิเสธ ด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย 102 เสียง เห็นชอบ 23 เสียง (รวมถึงรัสเซีย, อินเดีย, ซูดาน, เวเนซุเอลา, ซีเรีย, เกาหลีเหนือ และลิเบีย) และงดออกเสียง 26 เสียง อย่างไรก็ตาม ทั้งอิหร่านและประเทศอื่น ๆ ไม่ได้คัดค้านการอนุมัติโดยฉันทามติ.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES