ตามที่องค์การอนามัยโลก ประกาศยกระดับโรคฝีดาษลิง ให้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขหลังแอฟริกามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ เคลด 1 บี (Clade 1b) ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น ทางกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ออกมาระบุว่าข้อมูลจนถึงวันที่ 19 ส.ค. ยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์รุนแรง เคลด 1 บี ในประเทศไทย แต่มีผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ไม่รุนแรง ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคดังกล่าวพร้อมทั้งระบุด้วยว่า ในประเทศไทย โดยสถานเสาวภา สภากาชาดไทยได้มีการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว แต่มีค่าใช้จ่ายโดยฉีดป้องกันความรุนแรงได้ 68%-80%
ล่าสุด วันที่ 20 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลไปยังสถานเสาวภา สภากาชาดไทย เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานร พบว่า ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานรโดยตรง แต่พบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝืดาษเข้าใต้ผิวหนัง 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ถึง 80-85% ซึ่งผู้ที่ควรได้รับวัคซีน คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ดังนี้ 1. การฉีดวัคซีนแก่บุคคลที่มีการสัมผัสโรคแล้ว ได้แก่ ผู้ที่มีการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร เช่น มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ใกล้ชิดคลุกคลีหรือมีการสัมผัสกับรอยโรคของผู้ติดเชื้อ โดยให้เริ่มฉีดวัคซีนภายใน 14 วัน หลังสัมผัสโรค (ดีที่สุดคือภายใน 4 วัน) 2. การฉีดวัคซีนแบบป้องกันก่อนสัมผัสโรคสำหรับบุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อฝีดาษวานร และผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะกลุ่มชายรักชายที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีคู่นอนมากกว่า 1 คน หรือ ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา
โดย สถานเสาวภาให้บริการวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานร ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่มีความประสงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานรสามารถเข้ารับบริการวัคซีนได้ที่ตึกราชูทิศ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โดยมีการบริการฉีด 2 วิธี ดังนี้ วิธีที่ 1 ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (ขนาดเต็มโด๊ส 0.5 ML) ราคาเข็มละ 8,500 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน วิธีที่ 2 ฉีดเข้าในหนัง (ครั้งละ 0.1 ML) ราคาจุดละ 2,200 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วั น (ต้องมาพร้อมกัน 4 คน) ทั้งนี้ภายในเวลาทำการ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-12.00 น. (ปิดรับบัตรคิว เวลา 11.30 น.) เวลา 13.00-16.00 น. (ปิดรับบัตรคิว เวลา 16.00 น.) ส่วนวันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-12.00 น. (ปิดรับบัตรคิว เวลา 11.30 น.) ปิดทำการวันอาทิตย์
โรคฝีดาษวานร (Monkey pox, Mpox) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดจากเชื้อไวรัส Orthopoxvirus ซึ่งเป็นเชื้อในตระกูลเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ (Smallpox) แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า พบได้ในสัตว์ฟันแทะและสัตว์ตระกูลลิง นอกจากนี้ยังติดต่อจากคนสู่คนได้โดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง ตุ่มหนอง หรือบาดแผลของผู้ติดเชื่อ การใช้สิ่งของร่วมกัน รวมทั้งติดต่อทางละอองทางเดินหายใจจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยซึ่งการระบาดของโรคในปัจจุบันพบว่าส่วนใหญ่มักติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย
โรคนี้มีระยะฟักตัว 5-21 วัน ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย จากนั้นจะมีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า กระจายไปตามลำตัว แขนขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางรายอาจมีผื่นบริเวณเยื่อบุช่องปาก อวัยวะเพศ เยื่อบุตา ลักษณะของผื่น เริ่มจากเป็นผื่นแดงราบ เปลี่ยนเป็นผื่นแดงนูน ตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง ตกสะเก็ดและหลุดลอกออกตามลำดับ ระยะแพร่เชื้อใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ จนกว่าจะตกสะเก็ดและหลุดลอกออกหมด ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อบางส่วน อาจมาด้วยอาการแผลบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือ รอบทวารหนัก โดยไม่มีไข้นำมาก่อนได้
ส่วนการรักษา โรคฝีดาษวานรมักหายได้เองใน 2-4 สัปดาห์ การรักษาจึงเป็นแบบประคับประคองตามอาการ ซึ่งอัตราการเสียชีวิตในคนทั่วไปราว 3-6% แต่ในผู้ที่อายุน้อยหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีอาการรุนแรง เกิดภาวะแทรกซ้อน และมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น โดยผู้ป่วยที่อาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส วิธีการป้องกันโรค รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หลีกเสี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดโรค หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่อาจเป็นพาหะนำโรคและไม่รับประทานอาหารจากเนื้อสัตว์ปรุงไม่สุก.