เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ได้เซ็นลงนามในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการเตรียมการจัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ พ.ศ.2564 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … เข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา ซึ่งได้กำหนดให้มีสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้เป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายอื่นนั้น เรื่องดังกล่าวยังเป็นเรื่องของอนาคต แต่หากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ และได้กำหนดโครงสร้างของสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวด้วย ก็จะมีงานด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยตรง ดังนั้นระหว่างนี้ สพฐ.จึงอยู่ระหว่างการเตรียมตัวรอดูว่ารูปแบบของสถาบันพัฒนาหลักสูตรฯจะเป็นอย่างไร เพื่อจะได้วางแผนและเตรียมการโอนย้ายบุคลากร

“ระหว่างนี้ สพฐ.เตรียมความพร้อมแบ่งแยกงานของสำนักวิชาการว่าจะมีงานด้านใดบ้างที่จะต้องไปอยู่กับโครงสร้างใหม่ รวมถึงบุคลากรคนใดที่มีความเชี่ยวชาญ มีความสามารถ และมีความถนัดที่อยากจะออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนประสงค์จะถ่ายโอนไปสังกัดสถาบันพัฒนาหลักสูตรฯเราก็พร้อมปรับอัตรากำลังไปให้ ทั้งนี้เราไม่มีความกังวลอนาคตโครงสร้างของ สพฐ.จะเล็กลง เพราะเชื่อว่าเนื้องานของสถาบันพัฒนาหลักสูตรฯยังต้องทำงานเชื่อมโยงข้อมูลกับ สพฐ.อยู่ อีกทั้งการมีองค์กรกลางอย่างสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ ถือเป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อเข้ามาพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ เพราะจะเป็นหน่วยงานที่กำหนดทุกหลักสูตรไม่ใช่แค่การศึกษาขั้นพื้นฐาน” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว