จากกรณียอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้โลงศพมากขึ้นไปด้วย เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจร้านจำหน่ายโลงศพต่าง ๆ ในพื้นที่ กทม. และ ปริมณฑล เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปริมาณความต้องการใช้โรงศพที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ วัน

โดย นายรัฐวิชญ์ สุริยเสนีย์ อายุ 39 ปี ผู้จัดการทั่วไปสำนักงานใหญ่ร้านสุริยาหีบศพ หนึ่งในผู้จำหน่ายโลงศพรายใหญ่ระดับประเทศ เปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายโลงศพของทางร้านช่วงนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากเดิมที่เคยจำหน่ายได้เฉลี่ยวันละประมาณ 5-6 โลง เพิ่มขึ้นเป็น 10 กว่าโลง ยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 จึงต้องเร่งกำลังการผลิตในแต่ละวันให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการซึ่ง ณ ตอนนี้ ยังยืนยันว่าโลงศพที่มีสต๊อกเก็บไว้อยู่และกำลังการผลิตที่มีอยู่ยังคงมีเพียงพอ

“…ถามว่าวิกฤติโควิด ช่วยส่งผลให้รายได้จากการจำหน่ายเพิ่มขึ้นไหม ก็คงมีบ้าง แต่ก็ไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น หากเทียบกับปริมาณโลงที่จำหน่ายออกไป เนื่องจากโลงศพส่วนใหญ่ที่ใช้กับผู้เสียชีวิตโควิดจะเป็นโลงธรรมดา ราคาถูก หรือ โลงบริจาคที่ผู้ใจบุญซื้อไว้บริจาคผู้ยากไร้ ต่างจากโลงศพผู้เสียชีวิตทั่วไปที่จะมีราคาสูงกว่า ผลกำไรที่ทางร้านได้รับจึงไม่ต่างจากเดิมเท่าไร แม้ยอดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นก็ตาม” นายรัฐวิชญ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกันจากการสำรวจจำนวนการใช้โลงศพในแต่ละวันของมูลนิธิกู้ภัยต่าง ๆ ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล พบว่า ปริมาณการใช้โลงศพของมูลนิธิฯ แต่ละแห่งค่อนข้างแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ขอบเขตความรับผิดชอบ ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่มูลนิธิกู้ภัยองค์กรใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บศพ พบว่าในแต่ละวันจะมีการเบิกใช้โลงศพสำหรับผู้ป่วยโควิดยืนยันและสุ่มเสี่ยงเสียชีวิตจากโควิดที่ยังไม่ได้รับการยืนยันไม่ต่ำกว่า 20 โลง แบ่งเป็นผู้ป่วยโควิด ยืนยัน ประมาณ 10 ศพ แยกย่อยเป็นเสียชีวิตจากโรงพยาบาลประมาณ 5-6 ศพ และอีกประมาณ 4-5 ศพ เป็นผู้ป่วยเสียชีวิตที่บ้านพัก ส่วนที่เหลือนั้นจะเป็นศพที่ยังไม่แน่ชัดว่าเสียชีวิตจากโควิดแต่มีความเกี่ยวข้องหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า จากตัวเลขจำนวนการใช้โลงศพบริจาคดังกล่าว เมื่อนำมาเทียบเคียงกับปริมาณจำนวนโลงศพบริจาคที่มูลนิธิกู้ภัยองค์กรใหญ่ต่าง ๆ มีสำรองอยู่ ณ ตอนนี้ เฉลี่ยมูลนิธิละประมาณร้อยกว่าโลง จะพบว่าค่อนข้างเป็นที่น่ากังวล และอาจไม่เพียงพอในอนาคต หากยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด ยังคงพุ่งสูงขึ้นทุกวัน นอกจากนี้ปัญหายอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลไปถึงปริมาณความต้องการชุดพีพีอี หรือ อุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ ของเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เพื่อความปลอดภัยของตัวเจ้าหน้าที่ ซึ่งการเก็บศพแต่ละศพ จะใช้เจ้าหน้าที่จำนวน 6 คนขึ้นไป ใช้ชุดพีพีอีประมาณ 6 ชุด ต้นทุนค่าใช้จ่ายตกอยู่ชุดละประมาณ 1 พันบาท ซึ่งในแต่ละวันจำเป็นต้องใช้ไม่ต่ำกว่า 100 ชุด ค่าใช้ใช้จ่ายจึงเพิ่มขึ้นตามมาเป็นทวีคูณ.