นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) สายเหนือ ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร (กม.)

เนื่องจากต้องการเร่งรัดโครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ทั้ง 2 ระยะ (เฟส) มีระยะทางรวมกว่า 714 กม. ซึ่งจะเป็นรถไฟไฮสปีดสายแรกของประเทศไทยให้แล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ก่อน เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และประเทศจีนได้ ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และเส้นทางอื่นๆ จะพิจารณาในลำดับถัดไป ยังไม่ได้ตัดโครงการรถไฟไฮสปีดเส้นอื่นๆ ทิ้งไป

“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานด้วยว่า โครงการรถไฟไฮสปีด ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ สถานะโครงการล่าสุดอยู่ที่ฝ่ายญี่ปุ่น ประกอบด้วย กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (MLIT) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

ได้ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ และการเงินของโครงการฯ แล้วเสร็จพบว่า มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 17.3% สูงกว่าเกณฑ์ 12% มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เป็นบวกตลอดระยะเวลาดำเนินการ จึงก่อให้เกิดความคุ้มค่าในด้านเศรษฐศาสตร์ โดยเตรียมเสนอผลการศึกษาฯฉบับสมบูรณ์ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา

ทั้งนี้โครงการฯ เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ถูกบรรจุอยู่ในแผนงานระยะกลาง ปี 2571-2575 ของแผนแม่บทการพัฒนาระบบราง โดยรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2560

ส่วนเฟสที่ 2 ช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 288 กม. อยู่ในแผนงานระยะยาว ปี 2576-2585 EIA ได้รับความเห็นชอบจาก กก.วล. เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2562 ทั้งนี้ EIA มีอายุประมาณ 5 ปี ภายหลังจากได้รับการอนุมัติเห็นชอบจาก กก.วล. หากยังไม่เริ่มก่อสร้างโครงการฯ ต้องทบทวนมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมใน EIA หรือต้องศึกษา EIA ใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ก่อนเสนอ กก.วล. พิจารณาใหม่อีกครั้ง หากเห็นชอบจึงจะก่อสร้างได้

ในส่วนของเฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก แม้จะยังไม่ได้ดำเนินการ และอายุของ EIA เกิน 5 ปีแล้ว แต่ EIA ยังไม่หมดอายุ เนื่องจากได้นำพื้นที่ช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี มาใช้กับโครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สำหรับเฟสที่ 2 ช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ EIA หมดอายุแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างของบประมาณปี 2569 เพื่อใช้ทบทวน EIA ต่อไป

โครงการถไฟไฮสปีด ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก มีการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารปีแรกที่เปิดให้บริการประมาณ 10,900 คน-เที่ยวต่อวัน ส่วนอัตราค่าโดยสารใช้อัตราเท่ากับ 80+1.8 บาทต่อ กม. หรือจากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก อยู่ที่ประมาณ 764 บาท ใช้ขนาดทางมาตรฐานกว้าง 1.435 เมตร

ใช้ระบบรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น (Shinkansen) ความเร็วสูงสุด 300 กม.ต่อชั่วโมง ระยะทางรวมประมาณ 688 กม. มีสถานีจอด 12 สถานี ได้แก่ สถานีบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลําปาง ลําพูน และเชียงใหม่ หากก่อสร้างได้ตามแผนจะนับเป็นรถไฟไฮสปีดสายที่ 3 ของประเทศไทย ถัดจากสายที่ 2 คือรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา)