สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ว่าทีมวิจัยพบชุมชนหนอนยักษ์ใต้พื้นมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ระดับความลึก 2,515 เมตร เป็นครั้งแรก
แม้พื้นที่ก้นทะเลดังล่าวได้รับการค้นพบเป็นครั้งแรก เมื่อช่วงประมาณปี 2513 แต่การวิจัยล่าสุดเพิ่งค้นพบพบหนอนท่อและมอลลัสกา หรือสัตว์ประเภทหอยและหมึก ที่เจริญเติบโตได้ภายในแรงดันน้ำมากกว่าพื้นผิวถึง 250 เท่า และอาศัยอยู่ในความมืดสนิท
ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาถึงการเคลื่อนที่ของชุมชนหนอนยักษ์ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อตั้งรกรากในพื้นที่ใหม่รอบ ๆ ช่องระบายอากาศ ซึ่งเกิดขึ้นจากการปะทุของช่องน้ำร้อนระหว่างแผ่นเปลือกโลก
ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า พวกมันอาจเข้าไปอยู่ใต้เปลือกโลกพร้อมกับน้ำทะเลลึกที่เย็น และจากนั้น พวกมันก็ไหลออกมาที่ผิวน้ำและตั้งรกราก
ดร.โมนิกา ไบรท์ ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยเวียนนา กล่าวว่า จากการสำรวจด้วยเรือดำน้ำควบคุมระยะไกลและเครื่องขุด เพื่อเก็บตัวอย่างและภาพพื้นทะเล พวกเขาพบโพรงด้านล่าง ซึ่งเป็นแหล่งของหนอนตัวเต็มวัย, หอยฝาเดียว, โพลีคีตหรือไส้เดือนทะเล, หนอนทะเล และหอยทากทะเล
โพรงดังกล่าวมีความลึกประมาณ 10 เซนติเมตร แต่พบหนอนที่ยาวได้ถึง 41 เซนติเมตร และสภาพแวดล้อมนั้น คล้ายคลึงกับสภาพผิวน้ำที่หนอนท่ออาศัยอยู่ ซึ่งวัดอุณหภูมิได้ถึง 25 องศาเซลเซียส, มีออกซิเจน และไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นพิษ ในความเข้มข้นปานกลาง
การศึกษาพบว่า ตัวอ่อนเหล่านี้สามารถแพร่กระจาย และเข้าไปตั้งรกรากในรอยแยกของลาวาและพื้นทะเล หรืออาจถึงขั้นตกตะกอน, เติบโตเป็นตัวเต็มวัย และแพร่พันธุ์ในช่องระบายน้ำตื้น ๆ อย่างไรก็ตาม ดร.ไบรท์เชื่อว่า พวกมันอาจไม่สามารถลงไปได้ลึกกว่านี้ เนื่องจากปัจจัยทางอุณหภูมิและสภาพแวดล้อม
เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า จำเป็นต้องมีการสำรวจว่ามีสัตว์ประเภทใดอาศัยอยู่ในนั้นบ้าง เพื่อป้องกัน และคุ้มครองพวกมันจากการทำเหมืองใต้น้ำ.
เครดิตภาพ : AFP