ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา หัวหน้าหน่วยวิจัยและพัฒนาด้านการบริหารเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวในงานงานเสวนา “ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 สร้างความเข้าใจ สู่การแก้ไขอย่างยั่งยืน” จัดโดย สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ว่า   ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เกิดขึ้นทุกที่ทั่วในโลก ประเทศไทยมีปัญหาจัดอยู่อันดับที่ 5 ของเอเซีย โดยเฉพาะภาคเหนือจะมีหมอกควันที่มาจากหลายสาเหตุ ทั้งปัญหาไฟป่าในเมียนมาร์ ที่เดิมทีจะมีเพียงหน้าร้อน แต่ปัจจุบันเกิดจากยุทธศาสตร์การสู้รบ การเผาไร่ที่ทำแทบทุกฤดู และอีกส่วนหนึ่งมาจากอินเดีย รวมทั้งยังเกิดจากการจราจรบนท้องถนนและภาคการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาแต่ไม่ค่อยตรงจุด เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ แนะให้ภาครัฐควรต้องกำหนดเป็นนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้น

ด้าน ดร.สุดเขต สกุลทอง ผู้ช่วยอธิการบดี  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า การเผาป่าในพื้นที่ภาคเหนือมีมานานแล้ว ชาวบ้านมักจะพูดเล่นว่า ไฟมา ป่าโล่ง พืช รังมด เห็ดก็ได้กิน ส่วนปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เกิดจากหลายภาคส่วนทั้งจราจร ที่อยู่อาศัยในสังคมเมืองที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) แม้กระทั่งการเปิดแอร์ อีกส่วนหนึ่งเกิดวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันนี้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ในแต่ละปีจะมี 1.1 ล้านตัน ที่เป็นกิ่งลำไย  มะม่วง  ข้าว  ข้าวโพด บางแห่งอยู่ในพื้นที่สูงเครื่องจักรเข้าไปไม่ได้ก็ต้องเผา บางส่วนก็ไถ่กลบ ป้อนโรงงานไฟฟ้าชีวมวล

สาเหตุที่ทำให้พื้นที่ภาคเหนือต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันหนักกว่าที่อื่น หลักๆ มาจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นลักษณะแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบ เมื่อมีแรงกดอากาศสูงในช่วงฤดูหนาวอากาศ ทำให้ฝุ่นควันหรือฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น ไม่สามารถระบายออกไปได้ จึงเกิดการสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้สภาพสังคมเมืองยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) เพิ่มขึ้นด้วย และต้องยอมรับว่าการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองเช่นกัน โดยปัจจุบันพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ในแต่ละปีจะมีเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหลือทิ้งมากกว่า 1.1 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นกิ่งลำไย  มะม่วง  ข้าว  ข้าวโพด นอกจากนี้พื้นที่การเกษตรบางแห่งก็อยู่ในพื้นที่สูง เครื่องจักรเข้าไปทำงานไถกลบไม่ได้ เกษตรกรจึงเลือกวิธีจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรด้วยการเผา

นายเดโช ไชยทัพ ผู้อํานวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) กล่าว่า ปัจจุบันได้มีการโอนอำนาจให้องค์กรท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลและจัดการ โดยมีพื้นที่ป่าทั้งหมด 53 ล้านไร่ ที่ให้องค์กรท้องถิ่น 2,368 แห่ง เป็นผู้ดูแล แต่ปัญหาที่พบคือองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นยังขาดองค์ความรู้ และความเข้าในการบริหารจัดการไฟป่า จึงทำให้การแก้ปัญหาไม่บรรลุผล แนวทางออกที่เสนอคือ ภาครัฐต้องให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องกับท้องถิ่น เพื่อให้บริหารจัดการและวางแผนได้ รวมไปถึงการบริหารจัดการระบบเกษตรที่ไม่เผา และต้องมีงบประมาณให้ทำงานอย่างเพียงพอด้วย

ขณะที่  รศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์  ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ไฟป่าที่เกิดจากธรรมชาติในบ้านเรานั้นไม่เคยมีเกิดขึ้นจริง ที่เห็นเกิดขึ้นล้วนเป็นไฟป่าจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น และยังได้ชี้ให้เห็นว่าการเกิดไฟป่านั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีของการเกิดไฟป่าธรรมชาติ คือเป็นการลดความแออัดของผืนป่า และทำให้เกิดแหล่งอาหารตามธรรมชาติของสัตว์ป่า คือ ต้นหญ้าและต้นอ่อนของพืชหลายชนิดที่จะงอกหลังเกิดไฟป่า รวมทั้งเห็ดป่าด้วย  การเกิดไฟป่าในละครั้ง จะทำให้ป่าไม้เสียหายน้อยมากไม่ถึง 1% แต่สัตว์ป่าอาจจะเสียหายมากถึง 90% ประเด็นที่จะต้องให้ความสำคัญคือ การบริหารจัดการไฟป่าให้เหมาะสม เพราะหากไม่มีไฟป่าเลย ก็จะทำให้ป่ามีความหนาแน่นเกินไป จนกระทบต่อระบบนิเวศได้เช่นกัน ซึ่งการบริหารจัดการไฟป่าควรจะต้องพิจารณาทั้งช่วงเวลาและวิธีการเผาที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการจำกัดวงขนาดของไฟป่าอย่างเหมาะสม เพื่อให้ส่งผลกระทบด้านฝุ่นควันน้อยที่สุด

ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ กล่าวเริมในช่วงท้ายของการเสวนา ว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาการเกิดหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในมุมมองใหม่ ๆ เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน เนื่องจากเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ทั้งจากภาคครัวเรือน ภาคการเกษตรและป่า ซึ่งในส่วนของภาคการเกษตรนั้น ต้องยอมรับว่ายังมีความจำเป็น แต่ประเด็นที่จะต้องมาช่วยกันแก้ไขคือจะทำอย่างไรให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม ส่วนไฟป่านั้น ในมุมมองใหม่ที่ได้จากการเสวนาครั้งนี้ทำให้รู้ว่าไฟป่าไม่ได้มีแต่โทษอย่างที่สังคมเคยเข้าใจ แต่ยังมีประโยชน์ในอีกมิติหนึ่ง ที่สังคมจะต้องเปิดใจยอมรับ เพียงแต่จะต้องให้มีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดเช่นกัน