เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬา ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีอย่างเป็นทางการ

โดย ศ.ดร.วิเลิศ เปิดเผยว่า ตนมีแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยภายใต้นโยบาย “Chula Power of Togetherness” ที่มุ่งเน้นการเติบโตของจุฬาฯ ในทุกมิติ โดยมีนิสิตเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะการขับเคลื่อนจุฬาฯ สู่การเป็น “AI University” และการเป็น AI Hub ของภูมิภาคอาเซียน เพราะจุฬาฯมีความพร้อมด้านคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์  รวมถึงจะผลักดันการตั้ง Chulalongkorn AI Institute หรือสถาบันปัญญาประดิษฐ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ตอบโจทย์สังคมยุคดิจิทัล และเตรียมความพร้อมให้นิสิตมีทักษะและความรู้ด้าน AI ด้วยการที่เราจะสร้างผู้เรียนเป็นครีเอเตอร์ พร้อมที่จะต้องตอบสนองต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการขับเคลื่อนจุฬาฯนั้น ตนจะใช้เทคโนโลยีนำทาง เป็นมหาวิทยาลัยที่คนอยากเรียน และผลิตบัณฑิตที่มีทักษะเข้าใจโลก ซึ่งเราจะต้องก้าวสู่ระดับอินเตอร์ให้ได้ โดยที่จะทำอย่างไรให้นักเรียนต่างชาติมาเรียนที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมากขึ้น

“จุฬาจะจัดทำยุทธศาสตร์โกอินเตอร์ร่วมมือกับองค์กรระดับโลก และเร็วๆนี้จุฬาฯจะทำวิจัย เพื่อรายงานว่าอนาคตใครอยู่ใครไปทิศทางการศึกษา และทิศทางโลกจะไปในรูปแบบไหน เพื่อเสริมทักษะการวิเคราะห์ของประชาชนให้มากขึ้นในรูปแบบสังคมมีปัญหา จุฬาฯมีคำตอบให้  เพราะผมต้องการขับเคลื่อนให้จุฬาฯให้เป็นศูนย์กลางพื้นที่ที่ใช้บ่มเพาะเยาวชน ควบคู่ไปกับความสุขในการเรียน” อธิการบดีจุฬาฯ กล่าว

ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ในวันที่ 1 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป ตนจะเข้ารับตำแหน่งประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ด้วย โดยตั้งเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือระหว่างอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย และยกระดับมาตรฐานการศึกษาของไทยสู่ระดับสากล ซึ่งตนมียุทธ์ศาสตร์ที่จะผนึกกำลังมหาวิทยาลัยทุกแห่ง เพื่อสร้างคุณภาพการศึกษาแบบองค์รวม ซึ่งจะทำให้เราสามารถดึงต่างชาติให้เข้ามาเรียนในประเทศไทยได้ และวันนี้บทบาทของจุฬาฯคือการเปิดพื้นที่ให้ชุมชน และทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้อย่างเท่าเทียม และทุกมหาวิทยาลัยก็จะต้องมีการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกันได้