เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ผู้สื่อขาวรายงานว่า ด้วยสภาพอากาศที่มีฝนตกชุกในช่วงนี้ ทำให้ประชาชนมีความสับสนในอาการของไข้หวัดธรรมดา กับอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ส่งผลทำให้มีประชาชนเดินทางไปตรวจยังจุดคัดกรองมากขึ้น และทำให้ทีมแพทย์ต้องทำงานกันหนักมากยิ่งขึ้นนั้น

ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าสาขาไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะ​แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ด้วยสภาพอากาศตอนนี้หลายพื้นที่ของไทยมีฝนตกชุก และมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย ที่แพร่กระจายรวดเร็ว อาจเป็นตัวเร่งให้ประชาชนมีความวิตกกังวล และแยกไม่ออกระหว่างอาการของไข้หวัดกับอาการป่วยโควิด เพราะอาการมีลักษณะคล้ายกัน แม้ก่อนหน้านั้นผู้ป่วยโควิด จะมีอาการไม่ได้กลิ่น แต่การระบาดในรอบใหม่ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงจะมีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดา ซึ่งอาจทำให้ประชาชนหลายคนวิตกกังวล และเข้ามาตรวจเชื้อในจุดคัดกรองมากขึ้น

นพ.ปกรัฐ กล่าวต่อว่า โดยจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในจุดคัดกรอง ดังนั้นสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรมีมาตรการในการอนุญาตให้มีการจำหน่ายชุดตรวจโควิด ที่สามารถตรวจเองได้ที่บ้าน เพื่อให้มีการนำเข้าอุปกรณ์ชุดตรวจที่มีประสิทธิภาพ และให้ผลที่แม่นยำมากขึ้น เพราะตอนนี้ชุดตรวจโควิด ที่สามารถตรวจเองที่บ้านได้ มีการลักลอบขายกันในตลาดมืด ราคาอยู่ที่ประมาณชุดละ 500 บาท ซึ่งไม่มีใครยืนยันได้ว่าชุดตรวจที่ลักลอบแอบขายกัน มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ เพราะตอนนี้มีหลายคนซื้อกันไปตรวจเอง

“สิ่งนี้ อย. ควรมีการแก้ไขกฎระเบียบ ป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ และช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ยกตัวอย่างในสิงคโปร์ มีการจำหน่ายชุดตรวจโควิด ที่สามารถตรวจเองที่บ้านได้ ในราคาประมาณ 13 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งประมาณ 300 บาท จึงทำให้ประชากรสามารถเข้าถึงชุดตรวจที่มีประสิทธิภาพ และให้ผลที่แม่นยำในราคาที่ถูกลง” นพ.ปกรัฐ กล่าว.