“ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถามสถานการณ์กระทำผิดมรรยาททนายความ ตลอดจนกระบวนการตรวจสอบ และลงโทษที่อาจไม่เป็นที่เปิดเผยมากนักก่อนหน้ากับ นายมะโน ทองปาน รองประธานกรรมการมรรยาททนายความ โดยเผยว่า กระบวนการพิจารณาคดีมรรยาททนายความเริ่มจากเมื่อมี “ผู้กล่าวหา” ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งศาล อัยการ ทนายความ ตํารวจ ผู้เสียหาย และประชาชน สามารถกล่าวหา “ผิดมรรยาททนายความ” ได้ ก่อนที่ประธานมรรยาทจะพิจารณารับเป็นคํากล่าวหาหรือไม่
หากสั่ง “ไม่รับ” จะมีหนังสือแจ้งคู่ความว่า ไม่เข้าข้อบังคับหรือกฎหมาย รวมถึงแจ้งให้ผู้กล่าวหา โดยผู้กล่าวหามีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน แต่หากสั่ง “รับ” คํากล่าวหาและตั้งกรรมการสอบสวนจะใช้เวลา 1 เดือน โดยหลังรับสํานวนจะมีหนังสือแจ้ง “ผู้ถูกกล่าวหา” ให้มาแก้คดี หรือชี้แจงภายใน 15 วัน ขั้นตอนนี้อาจขอขยายเวลาได้ตามสมควร
ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนจะนัดสองฝ่ายมาเจอกัน เพื่อกําหนดวันไต่สวนเหมือนศาลคือ ไต่สวนทั้งสองฝ่าย
แต่ระยะเวลาช้า-เร็วขึ้นอยู่กับวันนัดของทั้งคู่และพยานที่มาให้การ ซึ่งไม่น่าเกิน 4-6 เดือน ก่อนทำความเห็นว่าสมควรพิจารณาโทษทนายความผู้นั้นอย่างไร และให้กรรมการมรรยาทพิจารณาต่อ
สำหรับโทษผิดมรรยาท “ร้ายแรง” สุดคือ “ลบชื่อ” ออกจากทะเบียน รองมาคือ “ห้ามทําการเป็นทนายความ” ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี แต่จะลง 1-2 ปีหรือไม่ เป็นดุลพินิจตามความหนักเบาพฤติการณ์ และโทษเบาสุดคือ “ภาคทัณฑ์”
ทั้งนี้ กรรมการมรรยาทจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือน ก่อนส่งสภาทนายความ ผลจะออกมาอย่างไรเป็นที่ยุติ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ถูกกล่าวหาในการ “อุทธรณ์” ไปยัง “สภานายกพิเศษ” คือ รมว.ยุติธรรม และสุดท้ายหากยังไม่เป็นที่พอใจ ผู้ร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาก็ยังสามารถใช้สิทธิผ่านศาลปกครอง สรุปกระบวนการทั้งหมดในการร้องเรียนใช้เวลาประมาณ 1 ปี
“ต้องเรียนประชาชนที่สงสัยว่าคณะกรรมการมรรยาทต่างจากหน่วยอื่น ที่เมื่อมีการร้องว่าคนในสังกัดทำผิดก็สามารถสั่งโยกย้ายออกจากหน้าที่ จากพื้นที่ หรือสั่งเข้าส่วนกลาง แต่ของเราทำไม่ได้ เพราะมีระเบียบข้อบังคับเขียนไว้ตั้งแต่ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528”
สำหรับสถิติพิจารณาคดีมรรยาท ตั้งแต่ ก.พ.-ต.ค. 67 ที่แล้วเสร็จ 274 คดี ในจำนวนนี้เป็นการ “ลบชื่อ” ออก 18 คดี ส่วนใหญ่เป็นกรณี “ตระบัดสินลูกความ” คือ รับเงินแต่ไม่ทำงานให้ ทิ้งคดีจนเกิดความเสียหาย และกรณีไปรู้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงจากคู่ความฝ่ายแล้วกลับไปเป็นทนายให้อีกฝ่าย อีกกรณีคือใช้วิชาชีพในการฉ้อฉลลูกความ เป็นต้น
“รับคดีมาเป็นทนายความให้แล้ว ต่อมายุยง ส่งเสริมให้มีการฟ้องคดี แยกคดีออกไปจิปาถะ รวมทั้งเรียกเงินทอง อ้างว่าจะไปวิ่งเต้นอะไรต่าง ๆ เหล่านี้คือการกระทำที่จะถูกลงโทษลบชื่อ 100%”
ส่วนกรณีพักใบอนุญาตทนายความไม่เกิน 3 ปี การพิจารณาว่าจะลงโทษเป็นเวลาเท่าใด นายมะโน ระบุ ต้องพิจารณารายละเอียดพฤติกรรมแต่ละเหตุ โดยมีการกลั่นกรองตั้งแต่ชั้นกรรมการสอบสวน, กรรมการมรรยาท และกรรมการสภาทนายความ โดยสรุปแล้วต้องผ่านความเห็นเกือบ 60 คน ซึ่งไม่มีเกณฑ์มาตรฐาน แต่ต้องดูเป็นรายคนว่าเป็นการทำผิดครั้งแรก หรือผิดซ้ำ ๆ ในเรื่องเดียวกันในข้อบังคับ 21 ข้อ
นอกจากนี้ การประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสียการดํารงวิชาชีพ เป็นเหตุให้ตัวเพื่อนทนายความด้วยกัน หรือตัวองค์กรได้รับความเสียหาย บางคดีอาจถึงขั้น “ลบชื่อ” ก็มีเช่นกัน
การร้องเรียนผิดมรรยาทที่พบมากสุดคือ ทิ้งคดี การนําข้อเท็จจริงคู่ความฝ่ายตัวเอง ของคู่ความฝ่ายตรงข้ามโพสต์ลงโซเชียล ซึ่งถือเป็นการเปิดเผยความลับลูกความ พฤติกรรมที่เป็นการจูงใจให้ผู้อื่นที่มีอรรถคดีมาหาตนเอง ลักษณะโฆษณาเรื่องอัตราค่าจ้างใด ๆ อวดอ้างตัวเองเก่งกว่าคนอื่น มีเส้นมีสาย ซึ่งเป็นระดับที่จะมีการตักเตือนก่อน
“ที่ผ่านมามีการเรียกทนายความที่ชอบโพสต์โฆษณา หรือโพสต์เกี่ยวกับคดีมาอบรม โดยทำมาแล้ว 4 รุ่น แต่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะเพราะมองเป็นเรื่องภายใน กระทั่งเกิดขึ้นหลาย ๆ เรื่อง ก็อยากให้ประชาชนสบายใจว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ”
พร้อมแนะประชาชนถึงวิธีหาทนายความ ควรหาผ่านคนรู้จัก หรือเรียกว่า “ปากต่อปาก” จะดีที่สุด แม้ความเป็นจริงการหาข้อมูลจากโลกออนไลน์จะง่าย แต่แทบไม่รู้จักนิสัยใจคอ บางครั้งแค่นัดเจอที่ร้านกาแฟ ยื่นนามบัตร จ่ายเงิน แต่เมื่อถึงเวลากลับติดต่อไม่ได้
ดังนั้น การศึกษาภูมิหลังเป็นเรื่องดีที่สุด การตรวจสอบว่ามีสํานักงาน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีประวัติอย่างไร หรือลองเข้าหาสภาทนายความในจังหวัด เพื่อประสานตรวจสอบรายชื่อว่าเป็นทนายความจริง หรือเคยมีชื่อถูกลงโทษคดีมรรยาททนายความหรือไม่
“บางครั้งในโลกออนไลน์ทุกอย่างดูดีหมด แต่พอตกลงว่าจ้างเสร็จ กลับกลายเป็นคนละคน แม้กระแสตอนนี้จะทำให้คนระแวงทนายความมากขึ้น แต่ตนถือเป็นโอกาสในช่วงวิกฤติให้กับคนในองค์กร ประพฤติตัวอย่างระวัง และอยู่ในกรอบกฎหมายข้อบังคับ” นายมะโน ทิ้งท้าย.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน