ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของ นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม เป็นครูที่โรงเรียนบ้านเกี๋ยง จังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2532 ก่อนเข้าสู่วงการกีฬาเมื่อปี 2538 ด้วยการเป็นนักวิชาการส่งเสริมด้านกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงราย ต่อมาในปี 2544 ย้ายไปทำงานที่การกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดแพร่ ในตำแหน่งงานเดียวกัน จนกระทั่งปี 2547 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ การกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดแพร่ สำนักงานการกีฬาภูมิภาค
จากการสั่งสมประสบการณ์ในภูมิภาค จนเข้าสู่ปี 2549 นายทนุเกียรติ เข้าสู่งานส่วนกลางกับการทำหน้าที่เป็นหัวหน้างานสนับสนุนแข่งขันกีฬาอาชีพ ฝ่ายพัฒนากีฬาอาชีพ และปี 2552 ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานแข่งขันกีฬาอาชีพและทะเบียนกีฬาอาชีพ ฝ่ายพัฒนากีฬาอาชีพ รวมทั้งในปีเดียวกันก็ได้เป็นผู้อำนวยการกองแข่งขันกีฬาอาชีพ ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย ก่อนเข้าสู่ปี 2564 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย จนล่าสุดด้วยความสามารถ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ ทำให้นายทนุเกียรติได้รับการทำหน้าที่สำคัญที่สุดในชีวิตกับตำแหน่งเป็นผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติคนใหม่ วัย 60 ปี เปิดใจหลังได้รับตำแหน่งสำคัญในครั้งนี้ว่า ในส่วนของแผนการทำงานนั้น จะมีเรื่องของการปฏิรูปการทำงาน ก็คือเรื่องโครงสร้างของกองทุนฯ ให้สอดรับกับการส่งเสริมและสนับสนุนสมาคมและหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงการนำเรื่องของเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงาน เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ พึงพอใจกับผู้ใช้บริการ
ขณะที่เรื่องของงบประมาณปี พ.ศ.2568 เพิ่งได้รับความเห็นชอบ จากนั้นจะเดินหน้าสร้างความเข้าใจกับสมาคมกีฬา ทั้งเรื่องงบประมาณ และจุดมุ่งหมายในการทำงานร่วมกัน เพื่อผลลัพธ์ที่ดี และความสำเร็จในมหกรรมกีฬาต่างๆ ที่อยากเห็นความสำเร็จในกลุ่มกีฬาอาชีพ รวมถึงอยากเห็นความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กรที่โปร่งใสและยุติธรรม ซึ่งจะต้องมีการหารือและคุยกับสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด หรือองค์กรกีฬาที่มีกฎหมายเฉพาะ เช่น คณะกรรมการกีฬามวย บุคคลวงการมวย คณะกรรมการกีฬาอาชีพ ผู้แทนอาชีพ เพื่อเป็นเกาให้ถูกที่คันและเดินหน้าให้ตรงจุด
สำหรับประเด็นปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายที่ล่าช้าเป็นเงินค้างท่อในยุคสมัยที่ผ่านๆ มา นายทนุเกียรติ ระบุว่า เรื่องนี้ เป็นดำริของท่านประธานกองทุนฯ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งทุกท่านกำชับมาว่าต้องรีบเข้ามาดูเรื่องนี้เป็นลำดับแรก คือให้เร่งรัดการเบิกจ่าย ซึ่งปัญหาเงินค้างท่อของบางสมาคมกีฬาที่ยังไม่ได้รับ หรือรับไม่หมด ก็จะดำเนินการให้ลุล่วงในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคมนี้ ถ้าจัดการเรียบร้อยก็ต้องมาสรุปผล และไล่ดูต้นตอของปัญหาว่าล่าช้า เพราะอะไร ติดขัดอย่างไร หรือขัดแย้งกับกฎหมายและระเบียบข้อไหนบ้าง ซึ่งถ้าแย้งกันก็ต้องปรับ
“ปัญหาที่ผ่านมาหลักๆ จะเป็นเรื่องของเอกสารที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และไม่ถูกต้อง ซึ่งจุดนี้ก็มีส่วนสำคัญทำให้เกิดปัญหาติดขัดและล่าช้า เช่นเดียวกับเรื่องภาระหน้าที่ของกองทุนฯ ที่มีมากมายจนบุคลากรต้องรับภาระหน้าที่หนัก ก็มีส่วนเช่นกันทำให้เกิดความไม่คล่องตัวในการทำงาน เรื่องนี้ก็อาจแก้ด้วยการเพิ่มจำนวนบุคลากร หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มากกว่าเดิม ส่วนเรื่องการของบประมาณที่สมาคมกีฬาต่างๆ ขอเข้ามาและอาจจะได้ไม่ครบตามที่ได้ทำแผนมา ต้องเรียนว่าในแต่ละปีที่เราได้งบประมาณในส่วนที่เป็นภาษีสรรพสามิต จากการจัดเก็บของรัฐบาลมาใช้ในการส่งเสริมกิจกรรมกีฬา ซึ่งกองทุนฯ ได้ในอัตรา 2 เปอร์เซ็นต์ ประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท แต่ก็แน่นอนว่าคำขอและผู้ขอที่ขอเข้ามานั้นมีมากเกินกว่าศักยภาพที่เราจะจัดสรรให้ได้แบบเต็มจำนวนที่ขอไว้”
นายทนุเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนฯในฐานะแหล่งเงินทุน ได้รับการเสนอแผนจากการกีฬาแห่งประเทศไทยในการเตรียมการเรื่องซีเกมส์ในปี 2025 แล้ว ซึ่งในแผนแรกนั้น คณะกรรมการกองทุนฯได้ให้ความเห็นชอบค่าใช้จ่ายในการเตรียมเป็นเจ้าภาพการแข่งขันแล้ว 400 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของการกีฬาในการทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆ ว่ามีอะไรบ้างที่จะตอบโจทย์การแข่งขันครั้งนี้ให้สมบูรณ์ เพื่อให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบในเรื่องรายละเอียดของโครงการ
ในส่วนของเรื่องมวยไทย ซอฟต์พาวเวอร์ นั้น ผู้จัดการทนุเกียรติ ระบุว่า สำหรับมวยไทย ทางรัฐบาลได้ให้การจัดสรรงบประมาณประจำปีให้การกีฬาแห่งประเทศไทยแล้ว ในการขับเคลื่อนนโยบายมวยไทย ซอฟท์พาวเวอร์ ให้ไปสู่เป้าหมาย และเพิ่มมูลค่าให้กับกีฬามวยไทย สร้างความกินดีอยู่ดีให้กับพี่น้องบุคลากรมวยไทย ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทยก็พยายามจัดทำรายละเอียด ส่วนกองทุนฯก็จะดูมวยไทยในเรื่องสวัสดิการนักมวย คนในวงการมวย