สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ว่าหนึ่งในกระบวนการสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนผ่านอำนาจบริหารในสหรัฐ คือการพิจารณาคุณสมบัติและรับรอง บุคคลซึ่งประธานาธิบดีคนใหม่เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยผู้ที่จะผ่านความเห็นชอบ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 51 เสียง จากทั้งหมด 100 เสียง
แม้อาจมีดราม่าเกิดขึ้นระหว่างการพิจารณา แต่จนถึงตอนนี้มีเพียง “ไม่กี่ครั้ง” ในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐเท่านั้น ที่วุฒิสภาปฏิเสธบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ กรณีล่าสุดเกิดขึ้น เมื่อปี 2532 วุฒิสภาไม่รับรองรับรองนายจอห์น ทาวเวอร์ อดีตวุฒิสมาชิกรัฐเทกซัส ซึ่งประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช เสนอให้ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม
ทั้งนี้ การปฏิเสธของวุฒิสภาเกิดขึ้น หลังรายงานโดยสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ในเวลานั้น เปิดเผยว่า กำลังสอบสวนทาวเวอร์กับพฤติกรรม “ดื่มมากเกินไป” และ “การคุกคามทางเพศ”
กรณีของทาวเวอร์ทำให้หลายฝ่ายเปรียบเทียบกับการที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ เสนอชื่อนายแมตต์ เกตซ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐฟลอริดา ให้ดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ของหลายฝ่าย เกี่ยวกับการที่เกตซ์ถูกสอบสวนโดยคณะกรรมาธิการจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์กับผู้เยาว์ และการค้ามนุษย์ ซึ่งเจ้าตัวยืนกรานปฏิเสธ
ส่วนครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐ ที่วุฒิสภาปฏิเสธรับรองบุคคลซึ่งผู้นำสหรัฐเสนอให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2377 ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน ผู้นำสหรัฐในเวลานั้น เสนอชื่อนายโรเจอร์ บี. ทานีย์ ให้ดำรงตำแหน่ง รมว.การคลัง โดยหวังให้ควบคุมธนาคารกลางสหรัฐ
หลังจากนั้น แจ็กสันเสนอชื่อทานีย์ ในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งวุฒิสภายังคงปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม แจ็กสันเสนอชื่อเทนีย์กลับเข้ามาอีก คราวนี้ในตำแหน่งประธานศาลฎีกา แต่คราวนี้ได้รับการอนุมัติ และทานีย์ เป็นผู้สาบานตนให้กับประธานาธิบดีมาร์ติน ฟาน บิวเรน ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อจากแจ็กสัน
การที่วุฒิสภาของสหรัฐมีอำนาจในการพิจารณา และรับรองผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี เป็นไปตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐ ซึ่งระบุว่า “แม้ประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหาร แต่การว่าจ้าง หรือมอบหมายให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามที่ระบุอยู่ในกฎหมาย “ต้องเป็นไปตามคำแนะนำและความยินยอม” ของวุฒิสภา”
ยกเว้นกรณีซึ่งวุฒิสภาอยู่ในช่วงพักการประชุม ประธานาธิบดี “มีอำนาจชั่วคราว” ในการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง แต่มีน้อยครั้งมาก ที่ประธานาธิบดีจะแต่งตั้งบุคคลใดในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะในตำแหน่งระดับรัฐมนตรี เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้อง และศาลฎีกาสหรัฐเคยวินิจฉัยว่า “การพักการประชุม” ของวุฒิสภา หมายถึงต้องมีช่วงเวลาไม่น้อยกว่า 10 วัน
สำหรับระยะเวลาในการพิจารณาและลงมติรับรองคุณสมบัติของบุคคล ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งใดก็ตามนั้น ไม่มีระยะเวลาแน่นอนว่าต้องเร็วหรือช้าแค่ไหน โดยหลายตำแหน่งอาจไม่มีการอนุมัติตลอดช่วงเวลาที่ผู้นำสหรัฐคนหนึ่งดำรงตำแหน่งก็ได้ แต่ภาระงานทั้งหมดจะไปตกอยู่ที่ข้าราชการประจำ.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES