อาจารย์นายแพทย์ บัณฑิต นราตรีคูณ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาให้ข้อมูลถึงสัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีอาการเป็นอย่างไร มีวิธีป้องกันหรือไม่

 “หลอดหัวใจตีบ” คือ ความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขปี 2565 พบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 70,000 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

สาเหตุของหลอดเลือดหัวใจตีบ

หลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากการมีหินปูนและไขมันไปเกาะหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดอาการหัวใจขาดเลือด สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเสื่อมของหลอดเลือดจากโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สุดที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมอย่างรวดเร็ว กลุ่มเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยส่วนมากจึงมักเป็นกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัว

3 อาการเหล่านี้ ใช่หลอดเลือดหัวใจตีบจริงหรือไม่

อาการที่ 1 “เจ็บหน้าอกรุนแรง”

ความเชื่อนี้จริง เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน หัวใจจะขาดเลือดอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการแน่นกลางหน้าอก อาจมีเหงื่อออกร่วมด้วย และมักจะเป็นนานเกิน 20 นาที 

อาการที่ 2 “เหนื่อยง่าย หอบง่าย”

ความเชื่อนี้จริง คนไข้จะมีอาการเหนื่อยง่าย เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง หากออกกำลังกายจะแน่นจุกกลางหน้าอกราว ๆ 5-10 นาที เนื่องจากหัวใจต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น แต่หลอดเลือดตีบลงจึงไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้พอ เมื่อนั่งพักแล้วอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้น

อาการที่ 3 “เวียนหัว หน้ามืด

ความเชื่อนี้ไม่จริง คนส่วนมากมักเกิดอาการเวียนหัว หน้ามืดจากความดันต่ำ หรือดื่มน้ำน้อย คนไข้ที่กินยาลดความดันโลหิตอาจทำให้เกิดอาการนี้ได้ง่าย แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจแต่อย่างใด

อาการของหลอดเลือดหัวใจตีบ

คนไข้จะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องออกแรงหรือออกกำลัง อาการแน่นหน้าอกนี้จะมีความรุนแรงมากกว่าการปวด เจ็บ รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่ม หรือมีไฟช็อตอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน อาการหลอดเลือดหัวใจตีบพบได้ในคนไข้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและกลุ่มที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง คนไข้กลุ่มหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันถือเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงมาก สามารถทำให้เสียชีวิตได้ทันที ฉะนั้นหากมีอาการอาการแน่นหน้าอกโดยไม่ทราบเหตุควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีสาเหตุหลักคือ

การสะสมไขมันของหลอดเลือด เมื่อมีมากเกินไปไขมันดังกล่าวจะไปปิดทางเดินของเลือดจนมิดแล้วส่งผลต่อชีวิตในที่สุด ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง เบาหวาน เป็นต้น โดยในเรื่องของไขมันที่สูงนั้นเกิดจากพฤติกรรมการทานอาหารโดยตรง และการไม่ออกกำลังกายตามมา ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มีคนในครอบครัวเป็นโรคดังกล่าว และความเครียดก็ส่งผลร่วมด้วย

อาการที่บ่งชี้ถึงการเป็นโรคคือ

เจ็บแน่นที่หน้าอกด้านซ้าย เหมือนมีอะไรแน่น ๆ มากดทับ และมักจะเกิดตอนออกแรง หากไม่ได้เกิดตอนออกแรง อาจไม่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ แต่เป็นเรื่องของกล้ามเนื้อหัวใจที่ไม่ได้เป็นอันตราย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าไม่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจเลย

นอกจากอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่เป็นอาการบ่งชี้ ยังสามารถสังเกตได้เวลาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมอื่นๆ หากเคยทำได้มากกว่าปัจจุบัน เช่น เคยวิ่งได้ 100 เมตร แต่ปัจจุบันวิ่งได้แค่ 50 เมตรก็เหนื่อยแล้ว หรือรู้สึกเจ็บ ก็เป็นอีกหนึ่งอาการบ่งชี้ถึงการเกิดโรค

การวินิจฉัยของแพทย์

แพทย์จะทำการซักประวัติก่อน แต่ส่วนมากจะไม่ค่อยเห็นความผิดปกติเท่าไรในโรคนี้ นอกจากในคนที่มีปริมาณไขมันสูง หรือมีอาการน้ำท่วมปอด หลักๆ เลยคือการซักประวัติ และการพาไปเดินสายพาน

โดยคนไข้โรคหลอดเลือดหัวใจตีบสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือแบบฉับพลันและแบบค่อยเป็นค่อยไป หากมีอาการแบบฉับพลันจะต้องรีบส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หากสามารถวินิจฉัยโดยแพทย์จะทำบอลลูนหรือสวนหัวใจ แต่หากเป็นผู้ป่วยแบบค่อยเป็นค่อยไปจะทำการให้ยาก่อน จนกระทั่งเห็นว่าอาการเริ่มหนักขึ้น คือ ไม่สามารถออกแรงมากได้ หรือออกแรงนิดหน่อยแล้วมีอาการ แพทย์ก็จะทำบอลลูนหรือสวนหัวใจ

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

คือใส่สายเข้าไปแล้วใส่บอลลูนขยายบริเวณที่หลอดเลือดตีบ โดยการดันไขมันที่อุดตันอยู่นั้นให้แนบติดไปกับผนังของหลอดเลือด ซึ่งจะมีการใส่ขดลวดร่วมด้วยแล้วคาขดลวดทิ้งไว้ที่บริเวณดังกล่าว เพื่อป้องกันการกลับมาอุดตันอีก

วิธีป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

คือการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด ได้แก่ เลิกบุหรี่ ลดไขมันโดยการควบคุมพฤติกรรมการทานอาหารร่วมกับออกกำลังกาย ควบคุมเบาหวาน ลดน้ำหนัก และสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าว ก็ต้องปฏิบัติตามนี้ด้วยอย่างเคร่งครัดเช่นกัน เพิ่มเติมคือห้ามหยุดทานยาที่แพทย์ให้ เพราะขดลวดที่ใส่เข้าไปเป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย จึงต้องทานยา เพื่อไม่ให้เกิดการอุดตันของขดลวดนั้น หากลืมทานยาร่างกายจะทำการส่งเกล็ดเลือดไปต้านสิ่งแปลกปลอมนี้ เหมือนเป็นการซ่อมแซมตัวเอง และเกิดการอุดตันซ้ำอีกครั้ง โดยยาที่แพทย์สั่งจะมี 2 ตัว ตัวหนึ่งทานในระยะเวลา 1 ปี จากนั้นจะเหลือยาเพียงตัวเดียวที่ต้องทาน นอกจากนี้การออกกำลังกายในผู้ป่วยสามารถทำได้และเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยในการสังเกตอาการของตัวเอง หากเริ่มรู้สึกว่าไม่สามารถออกแรงได้เหมือนเดิม อาจเป็นไปได้ว่าหลอดเลือดหัวใจกลับมาตีบตันอีกครั้ง

วิธีลดความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจตีบ สามารถลดความเสี่ยงโรคนี้ได้ด้วยการลดปัจจัยที่ควบคุมได้ ดังนี้

  • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ พฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงของหลอดเลือดหัวใจได้ในระดับหนึ่ง 
  • คุมโรคประจำตัวให้ดี หากคนไข้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง การคุมโรคเหล่านี้ให้ดีจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบได้มาก
  • หลอดเลือดหัวใจตีบเป็นภาวะอันตรายที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน หากมีอาการที่สงสัยว่าอาจเข้าข่ายเป็นโรคนี้ควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที