สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ว่าสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลียเปิดเผยว่า จากการสำรวจแนวปะการัง 12 แห่ง ของเกรต แบร์ริเออร์ รีฟ พบว่า มีปะการังตายสูงถึงร้อยละ 72 เนื่องจากปรากฏการณ์ฟอกขาวเป็นวงกว้างในช่วงฤดูร้อน, จากพายุหมุน 2 ลูก และน้ำท่วม
ทั้งนี้ แนวปะการังทางตอนเหนือแห่งหนึ่ง มีปะการังตายไปประมาณ 1 ใน 3 ซึ่งถือเป็นการลดลงประจำปีครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 39 ปี จากการติดตามของรัฐบาลออสเตรเลีย
วิกฤติปะการังฟอกขาว ซึ่งเกิดขึ้นเป็นวงกว้างซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับ เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ ได้พรากความมหัศจรรย์ของแนวปะการังเขตร้อน ที่มีความยาวถึง 2,300 กิโลเมตร และเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
นอกจากนั้น มีการยืนยันว่าปี 2567 ถือเป็นปีที่ 5 ของการฟอกขาวครั้งใหญ่ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา โดย “ปะการังเขากวาง” มีอัตราการตายสูงสุด แม้จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ปะการังเขากวางถือเป็นปะการังชนิดแรก ๆ ที่มีการฟอกขาว
นายริชาร์ด เล็ค หัวหน้าฝ่ายมหาสมุทรขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) กล่าวว่า แม้เกรต แบร์ริเออร์ รีฟจะสามารถฟื้นตัวได้ แต่การปรับตัวของพวกมันมีขีดจำกัด และโลกกำลังเข้าใกล้จุดเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้มาจากการสำรวจพื้นที่ไม่กว้างมากนัก เล็คจึงมีความกังวลว่า อาจพบการตายของปะการังที่ระดับเดียวกันในปีหน้า.
เครดิตภาพ : AFP