กลายเป็นข่าวโด่งดังชั่วข้ามคืน ภายหลัง เดลินิวส์ นำเสนอข่าวเป็นที่แรก กรณี นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และหัวหน้าชุดพญาเสือ พร้อม นายฉลอง ทองสงฆ์ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า(WCS) ประเทศไทย ดำเนินการสำรวจต้นแม่น้ำเพชรบุรี ในรอบครึ่งปีหลัง 2567 จากผ่านช่วงฤดูน้ำป่า วิธีการโดยการล่องเรือยาง เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน ที่น่าสนใจคือ การเข้าสำรวจบริเวณโป่งสีชมพู โป่งธรรมชาติ มีเนื้อที่โป่งประมาณ 1 ไร่ ห่างจากพะเนินทุ่ง ไป 10 กิโลเมตร พบความมหัศจรรย์ คือ เมื่อมีแสงแดดสาดส่องลงมา จะเห็นโป่งเป็นสีชมพูสวยสดงดงาม มีสัตว์ป่าเข้าใช้พื้นที่จำนวนมาก ทั้ง ช้างป่า เสือโคร่ง เสือดาว กระทิง กวาง เก้งหม้อ สมเสร็จ และลิงกัง เป็นต้น
มหัศจรรย์ธรรมชาติ ‘โป่งสีชมพู’ ช้างป่า-เสือ พากินแร่ธาตุ กลางป่าแก่งกระจาน
โป่งสีชมพู แห่งนี้ ถือว่ามีความมหัศจรรย์อย่างมาก แฝงตัวอยู่ภายในป่าโบราณ มรดกโลกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กลุ่มป่าที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งทอดตัวตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา จัดเป็นพื้นที่อนุรักษ์หลักที่มีความสำคัญ เป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเพชรบุรีและปราณบุรี อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่หลายเขตภูมิพฤกษ์ มาบรรจบกัน และตั้งอยู่บนรอยต่อของหลายเขตสัตวภูมิศาสตร์ย่อย เป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญและโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย จนได้รับการประกาศเป็นพื้นที่มรดกแห่งอาเซียน ในปี พ.ศ.2548 มีสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อยู่หลายชนิด เช่น เสือโคร่ง และจระเข้น้ำจืด สัตว์ป่าที่โดดเด่นอื่นๆ เช่น ช้าง สมเสร็จ วัวแดง กระทิง หมาใน เสือดาว เก้งหม้อ เลียงผา ผีเสื้อนานาชนิด เขียดแลว หรือกบทูด และนกกะลิงเขียดหางหนาม ทั้งนี้มีรายงานพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากถึง 100 ชนิด นก 545 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 112 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 55 ชนิด และปลา 101 ชนิด โดยสภาพป่า ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง
สุดฮือฮา! พบลูกช้างป่าสุดหายาก งายาว-สง่างาม กลางผืนป่ามรดกโลกแก่งกระจาน

สำหรับ โป่งสีชมพู ถือเป็นโป่งน้ำ หรือโป่งเปียก แร่ธาตุในโป่งเป็นสีชมพู ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นแร่ธาตุชนิดใด หากไม่มีแสงแดดสาดส่องลงมา จะดูคล้ายเป็นโป่งน้ำปกติ แต่หากมีแสงแดดสาดส่องลงมาแล้ว สีชมพูจะทอประกายแสง สวยสดงดงามราวเทพนิยาย โดยโป่งแห่งนี้ยังอยู่ในเขตป่าหวงห้าม ครั้งแรกที่นักวิจัยค้นพบ ล้วนตกตะลึงกับปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นอย่างมาก อีกทั้งจากการติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า ยังพบพฤติกรรมแปลกๆ ของสัตว์ป่าที่เข้าใช้พื้นที่ อาทิ พฤติกรรมของช้างโขลง ที่เมื่อจะกินโป่ง จะมีความพยายามกำจัดขี้เลนหน้าโป่ง เพื่อกินแร่ธาตุที่เป็นสีชมพูด้วย นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าเข้าใช้พื้นที่จำนวนมาก ทั้ง เสือโคร่ง เสือดาว กระทิง กวาง เก้งหม้อ สมเสร็จ และลิงกัง เป็นต้น
สุดพิเศษ! พบลูกช้างป่าแก่งกระจานงายาวกว่าช้างวัยเดียวกัน เกือบ 5 เท่าของปกติ

โดย โป่ง ถือเป็นแหล่งดินที่มีรสเค็มและละเอียดซึ่งเกิดจากแร่ธาตุบางชนิด เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แร่ธาตุในโป่ง ประกอบไปด้วย โซเดียม แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส และสังกะสี ซึ่งเป็นที่ต้องการของกระดูกและกล้ามเนื้อ แร่ธาตุเหล่านี้เป็นสิ่งซึ่งสัตว์ป่าไม่สามารถหาทดแทนได้จากพืช ดังนั้นโป่งจึงเป็นแหล่งแร่ธาตุสำหรับสัตว์ป่า ส่วนใหญ่พบโป่งได้มากในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดงดิบ
‘ลายทองเหรียญ’ รับ ‘ลูกช้างป่างายาว’ แก่งกระจาน เข้าข่ายลักษณะช้างมงคล

ทั้งนี้ โป่งในธรรมชาติ จะมี 2 ประเภท คือ โป่งดิน หรือ โป่งแห้ง เป็นบริเวณที่สัตว์ลงไปใช้ประโยชน์ มักเป็นเนินเตี้ยๆ หรือเป็นหย่อมดินโล่งอยู่กลางบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบ สัตว์มักจะใช้ปากขุดลงไป ปกติจะลึกไม่เกิน 1 เมตร เพื่อกินดินเหล่านั้น โดยเริ่มกินที่ผิวดินก่อนแล้วค่อยๆ กินลึกลงไป โป่งดินจะพบตามริมหรือในห้วยที่เป็นที่ราบ ในฤดูฝนที่มีน้ำท่วมขัง สัตว์ป่าจะไม่เลียกินดินแต่จะเลียกินน้ำแทน และโป่งอีกชนิดคือ โป่งน้ำ หรือ โป่งเปียก ที่ปกติเป็นแหล่งที่เป็นต้นน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นน้ำซึมหรือน้ำซับหรือที่ไหลออกมาจากภูเขาหินปูน แอ่งหรือบ่อที่เป็นโป่งดินมาก่อนโดยจะมีน้ำขังตลอดปี มักพบโป่งน้ำตามภูเขา

ส่วนกรณีการเกิดโป่งสีชมพู นั้น จากการสันนิษฐานเบื้องต้น เชื่อว่าน่าจะเกิดมาจากการระเหย และตกผลึกของแร่ธาตุจากยุคดึกดำบรรพ์ โดยไม่มีการเติมสารเคมีหรือสารปรุงแต่งใดๆ จึงเป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์ และเชื่อว่ามีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์ป่ามากมาย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์ว่ามีแร่ธาตุอะไรบ้าง



อย่างไรก็ตาม ความมหัศจรรย์ของโป่งสีชมพู ไม่ได้มีแค่นี้ แต่ที่สร้างความน่าประหลาดใจแก่นักวิจัย ยังปรากฏต่อมาด้วยว่า เมื่อนักวิจัยพยายามเก็บดินโป่งที่เกิดจากแร่ธาตุ โดยใส่ขวดบรรจุภัณฑ์ชนิดโปร่งแสง เพื่อมาทำการพิสูจน์นั้น ช่วงแรกยังปรากฏสีชมพูเมื่อมีการสะท้อนจากแสงแดด แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน ปรากฏว่าแร่ธาตุที่เป็นสีชมพูนั้น เมื่อโดนแสงแดดกลับไม่เรืองแสงเป็นสีชมพูดังเดิม ซึ่งปริศนานี้ต้องรอการพิสูจน์ความจริงจากผู้เชี่ยวชาญต่อไป.



