นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา และโฆษกสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า สถานการณ์เทตั๋วเครื่องบินลูกค้ายังเป็นปัญหาเรื้อรังมาเรื่อยๆ ตั้งแต่กลางปี 66 และกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น ทั้งนี้ เฉพาะเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสายการบิน และแอปพลิชันทิ้งลูกค้าที่ร้องทุกข์มาที่ สคบ. ตั้งแต่ 1 ม.ค.-ปัจจุบัน มีจำนวน 271 ราย โดยยุติเรื่องในชั้น สคบ. แล้วจำนวน 121 ราย และได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. จำนวน 108 ราย และอยู่ระหว่างพิจารณา 42 ราย
ทั้งนี้ จากการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าของเรื่องนี้ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 2 ธ.ค. 67 ได้ข้อสรุปว่า สคบ. เตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาชี้แจงถึงกรณีที่เกิดขึ้น อาทิ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า, กพท., ผู้แลแอปพลิเคชัน แอร์เอเชียมูฟ และตัวแทนจดทะเบียนแอปพลิเคชัน ‘ทราวิซโก’ ของบริษัท ทราวิซโก อินโนเทค จำกัด ประจำประเทศไทย คาดว่าจะเชิญมาชี้แจงภายในสัปดาห์นี้ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง
“เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่า ระบบการชำระเงินของแอปพลิเคชันแอร์เอเชียมูฟ มีการเชื่อมโยงกับ MOL PAYMENT ส่วนการตัดเงินผ่านบัตรเครดิตมีการเชื่อมโยงกับแอร์เอเชีย ดังนั้น แม้ทางสายการบินแอร์เอเชียจะออกมาปฏิเสธว่า กรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้อง เพราะแอปพลิเคชันแอร์เอเชียมูฟ เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่เข้ามาดูแลแอปพลิเคชันนี้ ไม่ใช่ของสายการบินโดยตรง ทาง สคบ. จำเป็นที่จะต้องเชิญมาชี้แจง” นายเลิศศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเอ็ตด้า สคบ. จะหารือร่วมกันถึงการประกอบธุรกิจของแอปพลิเคชันแอร์เอเชียมูฟ ว่าได้ปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ต่อเอ็ตด้าหรือไม่
ด้านนายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า การจองตั๋วเครื่องบินอย่างเดียว ไม่เข้าข่ายลักษณะ พ.ร.บ.ธุรกิจนําเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ปรับปรุงปี 2559 ที่กำหนดว่า การกระทำผิดที่เข้าเข้าข่าย พ.ร.บ. นี้ จะต้องขายสินค้าท่องเที่ยวในลักษณะเป็นแพ็กเกจ เช่น ขายตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พักและร้านอาหาร หรือตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พักและเช่ารถ เป็นต้น ดังนั้นลักษณะดังกล่าวจึงยังไม่ใช้ความตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนําเที่ยวฯ