การเล่น “กีฬา” เป็นหนึ่งในการกิจกรรมยอดนิยมของคนยุคนี้ เพื่อเข้าสังคม ออกกำลังกาย ผ่อนคลายความเครียด แต่การจะเล่นกีฬาทุกชนิด ก็ต้องมีการฝึกซ้อมเพื่อเสริมทักษะความสามารถ ทว่า หากซ้อมหนักเกินไป หรือเล่นกีฬาหนักเกินไปโดยที่ร่างกายไม่พร้อม หรือรับไม่ไหว อาจทำให้เกิดอาหารหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองได้
ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ควรทราบเมื่อเล่นกีฬา เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของอาการหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง
จากข้อมูลของนายแพทย์เหงียน มินห์ อันห์ จากศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาล Bach Mai แนะนำว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์อย่างมาก แต่ต้องเหมาะสมกับตัวเรา
ในการฝึกซ้อม เราต้องแบ่งว่าออกกำลังกายแบบไหนเพียงพอ และออกกำลังกายแบบไหนที่หนักเกินไป
ถ้าเราออกกำลังกายเฉลี่ย 30-45 นาทีต่อวัน และออกกำลังกาย 5 วันต่อสัปดาห์ ถือว่าเป็นการออกกำลังกายหนักปานกลาง หากออกกำลังกายมากกว่านี้ ต้องดูว่าร่างกายสามารถทนทานต่อการออกกำลังกายที่หนักในระดับนั้นได้หรือไม่? เพราะอาจเป็นอันตรายได้
สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายหนักเกินไป ต้องดูปัจจัยโดยรวมของตัวเอง ว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายหรือไม่? เช่น คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิต หรือเบาหวาน เป็นต้น ในกรณีที่หลังออกกำลังกาย เรามักรู้สึกเซื่องซึม เหนื่อย เบื่ออาหาร หรือนอนไม่หลับ จำเป็นต้องทบทวนดูว่า ออกกำลังกายหนักเกินไปหรือไม่ เพื่อลดปริมาณลงให้เหมาะสมกับร่างกายของเรา
“หากคุณออกกำลังกายโดยไม่ฟังเสียงของร่างกาย อาจมีความเสี่ยงหลายอย่างตามมา โดยเฉพาะ โรคหลอดเลือดสมอง” คุณหมอมินห์ อันห์ กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.เหงียน มาน คานห์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Viet Duc กล่าวว่า มีบางกรณีที่อาการหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง เกิดขึ้นขณะออกกำลังกาย ทำให้หลายคนกังวลใจ เพราะเราได้เห็นข่าวหลายต่อหลายครั้งถึงคนที่เสียชีวิตจากอาการหัวใจวายขณะเล่นกีฬา โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
คนที่มีความเสี่ยงต่ออาการหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมองระหว่างเล่นกีฬา มี 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก – ผู้ที่มีโรคประจำตัวโดยไม่รู้ตัว กลุ่มนี้มักพบในผู้ที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง (cerebral aneurysms) หรือมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือมีเลือดออกในสมองเฉียบพลัน เป็นเรื่องยากมากสำหรับผู้ป่วยที่จะรู้ว่าตัวเองป่วย เนื่องจากปกติแล้ว พวกเขาจะไม่แสดงอาการ และจะรู้เฉพาะเมื่อเกิดโรคหลอดเลือดสมองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก
กลุ่มที่ 2 – คนที่หักโหมเล่นกีฬาหนักเกินไป จนเกินขีดความอดทนของร่างกาย ตัวอย่างเช่น คนที่วิ่งได้เพียง 5 กม. แต่หลังจากฝึกซ้อมเป็นประจำ ก็เริ่มขยับไปที่ 10 กม. 20 กม. ตามลำดับ แต่กลับไปเข้าร่วมแข่งขันวิ่งมาราธอน 50 กม. หรือ 100 กม. ซึ่งเกินขีดจำกัดของร่างกาย
แพทย์แนะนำว่า การเล่นกีฬาต้องเหมาะสมกับวัย กีฬาที่ต้องใช้การออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น ฟุตบอล และการวิ่งระยะไกล เป็นกีฬาของวัยรุ่น
ผู้สูงอายุ ควรออกกำลังกายด้วยการเดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ และต้องอบอุ่นร่างกายอย่างระมัดระวัง และค่อยๆ เพิ่มจังหวะ เพื่อให้หัวใจหดตัวและปรับตัวได้ทัน
ร่างกายมนุษย์มีเกณฑ์ที่แน่นอน หากต้องการทำงานเกินเกณฑ์นั้น ก็ต้องใช้กระบวนการฝึกฝนและการปรับตัวที่ยาวนาน การเร่งกระบวนการดังกล่าว ส่งผลให้ร่างกายรับภาระมากเกินไป หัวใจไม่สามารถให้เลือดได้เพียงพอ และปอดต้องทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแลกเปลี่ยนออกซิเจน อัตราการเต้นของหัวใจปกติประมาณ 90 ครั้ง/นาที หากดันทะลุไปที่ 180-200 ครั้ง/นาที แสดงว่าเร็วเกินไป เกินเกณฑ์ที่ร่างกายรับได้ ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมอง
ผู้เชี่ยวชาญยังกล่าวอีกว่า ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่สุดที่โรงพยาบาลพบในนักกีฬา คือภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดสมอง นักกีฬาจึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์มาวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ห้ามปล่อยให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงเกินกว่า 120 ครั้ง/นาที.
ที่มาและภาพ : soha, Sepp Th G / Pixabay