เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2567 นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยการปรับเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขมาตรการส่งเสริมใน 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกปรับอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) จากเดิม 15-20% เป็น 15-30% โดยสิทธิประโยชน์หลักอยู่ที่ 15% เมื่อมีการลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ส่วนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกิน 15%
สำหรับการลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท จะได้รับสิทธิประโยชน์หลักอยู่ที่ 20% และสิทธิโยชน์เพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกิน 10% ซึ่งจะเริ่มประกาศใช้ในวัน 1 ม.ค. 68 ส่วนแหล่งเงินที่แหล่งเงินที่จะนำมาจ่ายคืนให้กับกองถ่ายหนังต่างชาติเป็นงบประมาณปกติของกรมการท่องเที่ยวอยู่แล้ว หากงบประมาณไม่เพียงพอกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

ขณะที่ส่วนที่ 2 คือการยกเว้นการจำกัดวงเงินคืนต่อเรื่อง เพื่อเป็นการรองรับกับแนวโน้มที่คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่เข้ามาในไทย เป็นผู้สร้างรายใหญ่ เงินทุนสูง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่างประเทศ สำหรับความจำเป็นที่ต้องมีการทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันประเทศต่างๆ เห็นประโยชน์จากธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ จึงได้ออกมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) หรือคืนภาษี (Tax Rebate/Tax Credit) เพื่อดึงดูดผู้สร้างภาพยนตร์ให้เข้าไปถ่ายทำในประเทศตนอย่างต่อเนื่อง ไทยจึงจำเป็นต้องปรับเกณฑ์และเงื่อนไขให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ และการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป
“การทบทวนมาตรการนี้จะส่งผลต่อการฟื้นฟูกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย กระจายรายได้สู่เมืองรอง การเพิ่มการจ้างงานคนไทย การเพิ่มมูลค่า ค่าใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประชาชนโดยตรง ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ของไทยไปยังต่างประเทศ” นายสรวงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ตั้งแต่ 2560 – 2567 หรือในช่วง 7 ปี ที่ผ่านมามีภาพยนตร์ที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย จำนวน 72 เรื่อง สร้างรายได้เข้าประเทศ 16,102 พิจารณาคืนเงินแล้ว 52 เรื่อง จากปี 2560-2565 สร้างรายได้ 9,669 ล้านบาท วงเงินคืนรวม 1,534 ล้านบาท ส่วนปี 2566-2567 อยู่ระหว่างถ่ายทำ และรวบรวมตรวจสอบเอกสารการเงินแล้วจำนวน 20 เรื่อง สร้างรายได้ 6,433 ล้านบาท และเงินคืนประมาณ 1,310 ล้านบาท ซึ่งจากทั้งสองมาตรการคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มเติม 20%