นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ เริ่มก่อสร้าง เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.61 ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโดยรวมประมาณ 84.90% งานโยธา ก้าวหน้า 87.07% และงานระบบรถไฟฟ้า ก้าวหน้า 82.06% โดยขณะนี้เตรียมยกติดตั้งคานทางวิ่งชนิดเหล็ก (Steel Guideway Beam) บริเวณแยกรัชดาฯ – ลาดพร้าว ซึ่งสาเหตุที่ต้องใช้คานทางวิ่งเหล็ก เนื่องจากสภาพพื้นที่ก่อสร้างมีการจราจรคับคั่ง ไม่สามารถก่อสร้างเสาตอม่อบริเวณกลางสี่แยกได้

นายกิตติกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้แนวเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นทางโค้งเลี้ยวจากถนนรัชดาภิเษกเข้าสู่ถนนลาดพร้าว ทำให้ระยะห่างระหว่างเสาตอม่อบริเวณข้ามทางแยกมีความยาวประมาณ 61.5 เมตร จึงต้องใช้คานทางวิ่งชนิดเหล็ก แทนคานทางวิ่งชนิดคอนกรีต โดยคานทางวิ่งดังกล่าวจะอยู่เหนือจากระดับสะพานข้ามแยกรัชดา – ลาดพร้าวประมาณ 7.4 เมตร ใช้ระยะเวลาในดำเนินงานรวม 3 เดือน แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้ 1. ช่วงติดตั้งคานทางวิ่งเหล็กประมาณ 2 เดือน ผู้รับสัมปทานจะปิดช่องจราจรขาเข้าและขาออก รื้อราวกันตกเดิมออก ติดตั้ง Temporary Box Girder บริเวณช่วงกลางสะพานข้ามแยกรัชดาฯ – ลาดพร้าว และติดตั้งคานทางวิ่งเหล็กบน Temporary Box Girder

และ 2. ช่วงคืนสภาพการจราจร เตรียมงานประมาณ 1 เดือน ผู้รับสัมปทานจะรื้อย้าย Temporary Box Girder สร้างราวกันตก และปรับปรุงผิวจราจรคืนสภาพเดิม ทั้งนี้ผู้รับสัมปทานได้มีการวางแผนการจัดจราจรบริเวณแยกรัชดาฯ – ลาดพร้าว เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ใช้เส้นทางตลอดระยะการดำเนิน ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 65 ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง ที่จะทำหน้าที่ป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายหลัก (Feeder Line) วิ่งให้บริการในแนวเหนือ – ใต้ ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และเชื่อมต่อไปยังจังหวัดสมุทรปราการ จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้สมบูรณ์มากขึ้น ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ด้าน พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กล่าวว่า ระหว่างการดำเนินงานจะจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร พร้อมทั้งเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์เพื่อคลี่คลายปัญหาจราจรตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับรูปแบบการจัดจราจรระหว่างดำเนินงานงาน มีดังนี้ 1. ปิดเบี่ยงจราจร 1 ช่องทางขวา (ชิดราวสะพาน) บนสะพานข้ามแยกรัชดาฯ – ลาดพร้าว ทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออก ระยะทาง 400 เมตร ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.64 เวลา 22.00 น. ถึงวันที่ 31 ม.ค.65 ผู้ใช้เส้นทางบนสะพานข้ามแยกรัชดาฯ – ลาดพร้าว ยังสัญจรได้ฝั่งละ 1 ช่องทาง

และ 2.ปิดเบี่ยงจราจร 2 ช่องทางซ้าย บนถนนรัชดาภิเษก ฝั่งขาออก บริเวณแยกรัชดาฯ – ลาดพร้าว ระยะทางประมาณ 15 เมตร ตลอด 24 ชั่วโมง จะปิดถึงวันที่ 31 ม.ค.65 ผู้ใช้เส้นทางบนถนนรัชดาภิเษก ฝั่งขาออก สามารถสัญจรได้ 2 ช่องทาง และผู้ใช้เส้นทางบนถนนลาดพร้าว ฝั่งขาออก สามารถใช้ช่องทางพิเศษ สำหรับเลี้ยวซ้าย เพื่อมุ่งหน้ารัชโยธิน ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าว อาจส่งผลให้การจราจรชะลอตัว ติดขัด และอาจมีเสียงดังรบกวน โดยระหว่างดำเนินงานจะมีการติดตั้งป้ายเตือนล่วงหน้าก่อนถึงจุดเบี่ยง ป้ายจราจร กรวยยาง และสัญญาณไฟส่องสว่าง เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทาง นอกจากนี้ได้เตรียมอุปกรณ์สำหรับเคลื่อนย้าย เพื่อรับมือเหตุฉุกเฉินในกรณีรถเสียหรืออุบัติเหตุตามแนวเส้นทางก่อสร้างด้วย

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง เป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลแบบคร่อมรางบนทางวิ่งยกระดับตลอดสาย แนวเส้นทางเริ่มต้นบนถนนรัชดาภิเษก บริเวณแยกรัชดาฯ – ลาดพร้าว เชื่อมต่อกับอาคารจอดแล้วจรสถานีลาดพร้าว ของรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน ไปตามแนวถนนลาดพร้าว ถนนศรีนครินทร์ และสิ้นสุดปลายทางบนถนนเทพารักษ์ บริเวณแยกเทพารักษ์ เชื่อมต่อกับสถานีสำโรง ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ มี 23 สถานี ได้แก่ สถานีลาดพร้าว สถานีภาวนา สถานีโชคชัย 4 สถานีลาดพร้าว 71 สถานีลาดพร้าว 83 สถานีมหาดไทย สถานีลาดพร้าว 101 สถานีบางกะปิ สถานีแยกลำสาลี (จุดเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล) สถานีศรีกรีฑา สถานีหัวหมาก (จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก) สถานีกลันตัน สถานีศรีนุช สถานีศรีนครินทร์ 38 สถานีสวนหลวง ร.9 สถานีศรีอุดม สถานีศรีเอี่ยม สถานีศรีลาซาล สถานีศรีแบริ่ง สถานีศรีด่าน สถานีทิพวัล และสถานีสำโรง รวมระยะทาง 30.4 กิโลเมตร มีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ 1 แห่ง และอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณสถานีศรีเอี่ยม.