เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรคพรรคประชาชน ยื่นหนังสือต่อ กกต. เพื่อขอให้ กกต. ออกหนังสือถึงโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ให้อนุญาตลูกจ้างลาไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568 โดยนายวิโรจน์ กล่าวว่า พรรคประชาชนได้มีข้อสังเกตว่าการที่ กกต. จัดการเลือกตั้ง อบจ. ให้เป็นวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568 ซึ่งในวันดังกล่าวสถานประกอบการรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งก็มีการทำงานในวันเสาร์ ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคทำให้ประชาชนไม่ได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่หลายคนมีความประสงค์ที่จะออกมาใช้สิทธิ
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในวันที่ 6 พ.ย. 2567 กกต. ได้มีหนังสือชี้แจงต่อสาธารณชนว่าจะมีหนังสือแจ้งไปยังสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สถานประกอบการ และห้างร้านต่างๆ ให้อำนวยความสะดวกกับลูกจ้างพนักงานให้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. แต่เท่าที่ตรวจสอบในขณะนี้ก็ยังไม่มีหนังสือยังไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ จากทาง กกต. ตนจึงมายื่นหนังสือต่อเพื่อเตือน กกต. ให้ทำหนังสือรีบประสานและเน้นย้ำกับผู้ประกอบการต่างๆ อำนวยความสะดวกให้กับลูกจ้างออกไปใช้สิทธิ เพราะหากคนมาใช้สิทธิน้อย กกต. ต้องรับผิดชอบ และสังคมวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของตน ทั้งนี้ กกต. มักให้เหตุผลว่า ในมาตรา 117 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ได้กำหนดว่าห้ามนายจ้างขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท แต่โลกแห่งความเป็นจริงจะมีจะมีลูกจ้างคนไหนจะไปแจ้งความเอาผิดนายจ้าง ซึ่งเป็นไปไม่ได้
เมื่อถามว่าทราบความคืบหน้าเรื่องที่เลขาฯ กกต. ได้ส่งหนังสือถึงปลัดกระทรวงแรงงาน และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอความร่วมมือให้ลูกจ้างสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. โดยส่งตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. 2567 แล้วหรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า ก็เป็นการประสานราชการต่อราชการ แต่ตนเห็นว่า กกต. ควรทำหนังสือประสานตรงไปยังผู้ประกอบการต่างๆ เลย และอาจจะอธิบายมาตรา 117 ด้วยว่า นายจ้างมีความจำเป็นต้องอำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568 เช่น อาจจะไม่นับเป็นวันลาหรือมีมาตรการใดๆ จูงใจ หรือสนัสนุนให้พนักงานในสังกัดของตนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่ง กกต. ต้องทำงานทำหน้าที่ของตน ให้มากกว่านี้ ไม่ใช่แทงหนังสือไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องแค่นั้นแล้วจบ ตนคิดว่าต้องทำทั้งระบบ และกระวีกระวาดมากกว่านี้ ตอนนี้หากถามห้างร้าน สถานประกอบการอาจทราบ แต่จากการที่ สส. ของเราไปสอบถามมา ไม่พบว่าเขารู้จากการบอกต่อกันมา แต่ไม่มีหนังสือตรงจากหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีหนังสือตรงจาก กกต. เลย
“สิ่งที่ กกต. ทำได้มากกว่าการทำหนังสือคือ การทำสื่อประชาสัมพันธ์ออกมา ที่ต้องมีน้ำหนักในการสื่อสารอย่างกว้างขวาง ซึ่งเรายังไม่เห็นการกระทำนั้นอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่โพสต์ๆ เดียวในเฟซบุ๊ก หรือทำหนังสือ 1 หน้า A4 ถึงกระทรวงแรงงาน หรือกรมกองที่เกี่ยวข้องแล้วคิดว่าจบ อย่างนั้นเท่ากับว่า กกต. ก็คำนึงถึงแค่ตัวเองได้ทำอะไร ออกประกาศเป็น A4 1 แผ่นก็พอแล้ว แต่ผมว่ามันไม่พอ มันต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ เช่น ผู้ประกอบการในวงกว้าง ภาคประชาชนในวงกว้างทราบดีว่าในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568 ผู้ประกอบการ ห้างร้านต่างๆ ต้องพร้อมอำนวยความสะดวกและเปิดให้ประชาชน ซึ่งเป็นพนักงานนั้นไปใช้สิทธิ เรายังไม่เห็นฝ่ายทรัพยากรบุคคลในการวางแผนสลับกะการทำงาน ว่าเปิดให้พนักงานได้ลาไปเลือกตั้งโดยไม่นับเป็นสิทธิการลากิจ เรายังไม่เห็นภาพแบบนี้ในวงกว้าง” นายวิโรจน์ กล่าว
เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะไปติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงแรงงาน และอุตสาหกรรมที่ดูแลสถานประกอบการ และแรงงานโดยตรง หรือไม่ว่าดำเนินการอย่างไร นายวิโรจน์ กล่าวว่า หลังจากวันนี้จะต้องมีการติดตามว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานที่มาสนธิกำลังกัน ได้ดำเนินการกระตุ้น หรือแจ้งให้สถานประกอบการทราบหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าหัวเรี่ยวหัวแรงหลักคือ กกต. ซึ่งคาดหวังว่า กกต. จะทำสื่อประชาสัมพันธ์ออกมาในกว้าง เพราะคนที่ตัดสินใจเลือกในวันเสาร์ ก็เป็น กกต. เอง ดังนั้น กกต. ก็พึงที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว กกต. จะอ้างว่าไม่ทราบว่า สถานประกอบการ หรือโรงงานหลายแห่งทำงานในวันเสาร์ไม่ได้ คิดว่าเรื่องนี้ประชาชนก็น่าจะคาดการณ์ได้อยู่แล้ว แต่พอ กกต. ไปคาดการณ์เชิงลบว่าการออกมาใช้สิทธิอาจจะน้อย แต่กลับไม่กระวีกระวาดในการทำสื่อเข้าถึงประชาชนและผู้ประกอบการอย่างกว้างขวาง ยังไม่เห็น กกต. พูดถึงมาตรา 117 รวมถึงไม่เห็นการขอความร่วมมือผู้ประกอบการอย่างจริงจัง ไม่เห็นการขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการประชาสัมพันธ์เลย ย้ำว่าถ้าเป็นไปได้ กกต. ควรทำหนังสือตรงไปยังสถานประกอบการทุกแห่ง และขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้
นายวิโรจน์ ยังกล่าวถึงการทำงานของ กกต. เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อบจ. ว่า อบจ. เป็นการบริหารในส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวพันโดยตรงกับการพัฒนาสาธารณูปโภค และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จริงๆ ถือเป็นการเลือกตั้งที่มีความสำคัญ และงบประมาณที่ อบจ. ได้รับและมีสิทธิในการบริหารจัดการหลายที่ เป็นเม็ดเงินมหาศาล อย่างที่จังหวัดจันทบุรี 741 ล้านบาทต่อปี 4 ปีประมาณ 3 พันล้านบาท แต่ยังไม่เห็นบทบาท กกต. ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้อย่างมากเพียงพอ ไม่มีความกระวีกระวาดที่อยากเห็นการมาใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปรากฏการณ์ เหมือนกับว่า เรารู้สึกและกังวลการทำงานของ กกต. จะเหมือนหน่วยงานที่ออกกระดาษ A4 ไปแล้วบอกว่าทำไปแล้ว แต่ไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ หรือผลสัมฤทธิ์ที่ควรจะเป็นคือ ประชาชนตื่นตัว นายจ้าง สถานประกอบการให้ความร่วมมือ มีการตื่นตัวร่วมกัน ตนอยากเห็นท้องถิ่นพัฒนาจากการเลือกตั้ง อบจ.