วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร ได้ดำเนินการบูรณะและพัฒนาพระอุโบสถ (หลังคา) วัดเทวราชกุญชรฯ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2567 กำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือน ต.ค. 2568 พร้อมทั้งเปิดให้พุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญบูรณะและพัฒนาพระอุโบสถ (หลังคา) ได้ที่วัดเทวราชกุญชรฯ หรือ ธนาคารกรุงไทย สาขากระทรวงศึกษาธิการ ชื่อบัญชี บูรณะวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร เลขบัญชี 0590385852

ทั้งนี้ พระอุโบสถ วัดเทวราชกุญชร สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ มีขนาดกว้าง 17 เมตร ยาว 36 เมตร มีเขตพัทธสีมา กว้าง 24 เมตร ยาว 43.50 เมตร เป็นอาคารแบบประเพณีนิยม ก่ออิฐถือปูน ลักษณะพระอุโบสถมีขนาดสูงใหญ่ มีเสาพาไลรองรับ ชายคาเสาเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ไขราเป็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเป็นงานไม้ประดับกระจกสีลายดอกพุดตาน ซุ้มประตูและหน้าต่างตกแต่งด้วยงานปูนเป็นซุ้มเรือนแก้ว หลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มีกำแพงแก้ว รอบพระอุโบสถ ที่มุมกำแพงแก้วมีเจดีย์ทั้งสี่มุม

โดยจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ผนังด้านข้างทั้งสองด้านเหนือช่องหน้าต่างตอนบน เขียนภาพแสดงเหตุการณ์ตอนเทพยดาชุมนุมกันขณะที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ผนังตอนล่างระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพพระภิกษุปลงอสภุกรรมฐาน 10 หรือพิจารณาซากศพ ภาพ “เสือกัดพระ” สื่อถึงการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน สันนิษฐานว่าอาจวาดมาจากเนื้อหาตอนหนึ่งของคัมภีร์สมุังคลวิลาสินี ทุติยภาค ที่กล่าวถึงเสือตัวหนึ่งได้จับพระภิกษุที่จำพรรษาปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าไปกินทีละองค์ จนถึงพระภิกษุรูปหนึ่งที่ถูกเสือกัดกินตั้งแต่นิ้วเท้าไปจนถึงหัวใจ โดยท่านข่มเวทนาแล้วเจริญวิปัสสนาจนบรรลุพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ส่วนผนังด้านหน้าเป็นภาพทศชาติชาดกเล่าเรื่องสุวรรณสาม บานหน้าต่างด้านในพระอุโบสถเขียนลายเป็นงานจิตรกรรมเครื่องตั้งของจีน ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 3