เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 22 ม.ค. ที่อาคารรัฐสภา นายเกรียงยศ สุดลาภา สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร แถลงการประชุม กมธ. ว่า เราได้มีการประชุมโดยเชิญหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) มาชี้แจงเรื่องเกี่ยวกับพิจารณาการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ใน กทม. แต่น่าเสียดายที่ผู้บริหารของ กทม. ไม่ได้เข้ามาร่วมประชุมด้วย มีเพียงผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เข้าร่วมชี้แจง โดยคณะอนุ กมธ. ได้เสนอกรณีศึกษาการดำเนินการของต่างประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบให้ กทม. พัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ให้เป็นในเชิงรุกมากขึ้น

ด้าน น.ส.รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี ระบุว่า ขอให้กรุงเทพมหานครยึดหลักปฏิบัติเหมือนประเทศเกาหลีใต้ “คุณภาพชีวิตของประชาชนยิ่งใหญ่กว่าเงินตราที่เสียไป (The value of human beings is far greater than that of money)” พร้อมทั้งคณะอนุกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะให้พิจารณามาตรการปิดไซต์ก่อสร้าง เพื่อเป็นการกดดันรถบรรทุกที่ปล่อยควันดำในทางอ้อม และติดตั้งป้ายเตือนค่าฝุ่น PM 2.5 ในบริเวณสถานที่สาธารณะ เช่น ป้ายรถเมล์ และทางเข้าสวนสาธารณะทุกแห่ง เพื่อให้เป็นมาตรการระยะสั้น และสำหรับมาตรการระยะยาวนั้น ให้พิจารณากำหนดเขตมลพิษต่ำ “Bangkok Low Emission Zone”

น.ส.รัดเกล้า กล่าวต่อว่า อยากเห็นกรุงเทพมหานคร ใช้ยาแรงในการตรวจสอบว่าไซต์ก่อสร้างไหนที่มีรถปล่อยควันดำออกมา ให้ปิดไซต์ก่อสร้างนั้นเลย เพราะในสภาวะฉุกเฉินแบบนี้ เราต้องช่วยกันทำให้ฝุ่นลดลง ส่วนเรื่องการสั่งปิดโรงเรียน ตนเองเกิดการตั้งคำถามว่าโรงเรียนที่ปิดไปแล้ว มีการเรียนออนไลน์หรือไม่ หรือไม่มีการเรียนการสอนเลย แต่ก็ได้คำตอบมาว่า ในบางโรงเรียนมีการเรียนออนไลน์ และบางโรงเรียนสามารถเรียนชดเชยได้ ซึ่งหากใช้กฎหมาย จะสามารถแจ้งล่วงหน้าให้ผู้ปกครองได้เตรียมความพร้อม และแผนการรับมือ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กันไปกับการเรียน

น.ส.รัดเกล้า ย้ำว่า ตนเองอยากเห็นความเข้มงวดเข้มแข็ง เอาจริงเอาจัง และการทำงานเชิงรุกของ กทม. ที่มากกว่านี้ วันนี้แอบผิดหวังเล็กน้อยที่ระดับผู้บริหารของ กทม. ไม่มาเข้าร่วมการประชุม และทาง อนุ กมธ. จะติดตามสถานการณ์ฝุ่นอย่างใกล้ชิดต่อไป ถ้ายังไม่ดีขึ้น จะมีการนัดประชุมอีกครั้ง และหวังว่าในระดับนโยบาย และระดับบริหาร คนที่สามารถชี้แจงในประเด็นเชิงลึกได้ จะมาเข้าร่วมประชุมในครั้งถัดไปด้วย