“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีหนังสือถึงผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เรื่องขออนุมัติโครงการเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) ตามที่กระทรวงคมนาคมขอให้สำนักงาน สศช.เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
โดยสำนักงานฯ ได้นำเสนอ สศช.พิจารณาเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2568 และให้ความเห็นชอบโครงการฯ 1,520 คัน ระยะเวลาเช่า 7 ปี วงเงิน 15,355.60 ล้านบาท ใช้แหล่งเงินงบประมาณแผ่นดิน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อทดแทนรถโดยสารธรรมดาของ ขสมก. ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงและค่าซ่อมบำรุงรักษาของ ขสมก. ภายใต้แผนขับเคลื่อนกิจการฯ ของ ขสมก. (ฉบับปี 2566) ตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2567

รวมทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้บริการของ ขสมก. ตามหลักเกณฑ์การต่ออายุใบอนุญาตในเส้นทางปฏิรูปที่ ขสมก. ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง จะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะเพิ่มขึ้น รวมทั้งลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเห็นควรให้ครม.พิจารณากำหนดเป็นเงื่อนไขของโครงการฯ โดยขสมก. ต้องกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) เกี่ยวกับขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ให้เช่าให้เกิดความชัดเจน อาทิ จำนวน สภาพรถโดยสาร สถานีอัดประจุไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องที่พร้อมใช้งานตลอดอายุสัญญา
รวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องทดแทนกรณีเกิดอุบัติเหตุ และขอบเขตภาระค่าใช้จ่ายและกรอบระยะเวลาที่ใช้รื้อถอนสถานีอัดประจุไฟฟ้าเมื่อสิ้นสุดสัญญา รวมถึงความเหมาะสมในการกำหนด เงื่อนไขให้ ขสมก. มีสิทธิซื้อซากรถโดยสารซึ่งครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและกำจัดซากแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานเมื่อสิ้นสุดสัญญา และกำหนดให้ถ่ายทอดความรู้ด้านเทคนิคของรถโดยสาร EV และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแก่บุคลากร ขสมก. ทั้งในส่วนของพนักงานขับรถและพนักงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ขสมก. ต้องพิจารณาศึกษาและถอดบทเรียน/ประสบการณ์การนำรถโดยสาร EV มาใช้ในการให้บริการสาธารณะของต่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการให้บริการโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวรถโดยสาร สถานีอัดประจุไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ให้เช่า รวมทั้งเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมแข่งขันอย่างเป็นธรรม การใช้จ่ายเงินลงทุนโครงการฯ เป็นไปอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ
ต้องพิจารณาปรับแผนการบริหารจัดการรถเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการที่อาจจะมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นจากการปรับอัตราค่าโดยสารโดยเฉพาะกลุ่มรายได้ปานกลาง นักเรียน/นักศึกษาหรือพิจารณากำหนดมาตรการลดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ อาทิ การจัดทำบัตรรายเดือน รายสัปดาห์ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
ต้องพิจารณากำหนดแนวทางการปลดระวางรถโดยสารธรรมดา 1,520 คัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนำมาใช้งานเป็นรถโดยสารสาธารณะอันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเขตเมือง ศึกษาแนวทางการจัดหารถโดยสารทดแทนก่อนสิ้นสุดสัญญาอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้บริการประชาชนต่อเนื่อง เร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วม ให้กรมการขนส่งทางบกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการเพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ อาทิ แอปพลิเคชันเดียว ให้จัดทำแนวทางการบริหารการเผชิญเหตุและการช่วยเหลือผู้โดยสารในสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
ด้านนายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการขสมก. เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างกำหนด TOR โดยเชิญองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มอบหมายผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์เพื่อความโปร่งใสและยืนยันดำเนินการอย่างถูกต้อง ครบถ้วนตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน
กำหนดเวลา (ไทม์ไลน์) เบื้องต้นหาก ครม.เห็นชอบจะเปิดประชาพิจารณ์ TOR กลางเดือน ก.พ. เช่าประมูลแบบ e-bidding เดือนพ.ค. ได้ผู้ชนะประมูล ใช้เวลาส่งมอบรถให้ขสมก.นำมาบริหารจัดการเดินรถ 500 คันแรกประมาณปลายปีนี้และส่งมอบครบทั้งหมดภายในปี 2569