เมื่อเดือน ต.ค. 2567 มีรายงานวิจัยที่เผยแพร่โดยองค์กรท็อกซิคฟรี ฟิวเจอร์และสถาบันชีวิตและสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยเสรีอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งระบุว่าพบสารพิษเจือปนอยู่ในภาชนะและเครื่องใช้ในครัวที่เป็นพลาสติกสีดำ และแนะนำให้ประชาชนเปลี่ยนไปใช้ภาชนะแบบอื่น
วานนี้ (29 ม.ค. 2568) สำนักข่าวนิวยอร์กโพสต์รายงานว่า ทีมผู้เขียนรายงานวิจัยฉบับดังกล่าวแถลงยอมรับว่าพวกเขาทำผิดพลาดในการคำนวณทางคณิตศาสตร์ระหว่างศึกษาวิจัย พร้อมกันนี้ได้ออกบทแก้ไขรายงานฉบับดังกล่าวแล้ว
กรณีศึกษาดังกล่าวได้ทดสอบเครื่องใช้ในครัวเรือนจำนวน 203 รายการที่ทำจากพลาสติกสีดำและพบว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างมีสารหน่วงการติดไฟที่ก่อให้เกิดมะเร็งและรบกวนฮอร์โมนในระดับสูงผสมอยู่ในวัสดุ โดยพบปริมาณสารหน่วงการติดไฟในระดับสูงสุดในไม้พายและถาดใส่ซูชิที่ทำด้วยพลาสติกสีดำ
สารหน่วงการติดไฟส่วนใหญ่ในกลุ่มเครื่องใช้ที่นำมาทดสอบนี้ ผลิตจากสารเคมีเดคาโบรโมไดฟีนิล อีเทอร์ (Decabromodiphenyl ether) ซึ่งระบุอยู่ในรายงานด้วยชื่อ BDE-209
เมแกน หลิว ผู้ร่วมเขียนผลการศึกษาครั้งนี้ อธิบายว่าสารหน่วงไฟเป็นสารเคมีชนิดเดียวกับที่พบในวัสดุผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ และในรายงานก็ระบุว่า ไม่ควรใช้สารเคมีก่อมะเร็งเหล่านี้มาผลิตเป็นเครื่องใช้ตั้งแต่แรก อีกทั้งเมื่อนำไปรีไซเคิล สารเคมีเหล่านี้ก็จะเข้าสู่สิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ระดับของสารหน่วงไฟที่พบในเครื่องใช้ตัวอย่างนั้นมีปริมาณสูงจนน่าเป็นกังวล
ผลการศึกษานี้กลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากแสดงความตื่นตกใจและเกิดความกังวลว่าควรทิ้งของใช้ในครัวเรือนเหล่านี้หรือไม่
ต่อมา ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการศึกษานี้ก็ประกาศว่ามีการแก้ไขข้อมูล หลังจากคำนวณผิดพลาดเกี่ยวกับปริมาณ BDE-209 สำหรับผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 60 กก. โดยทีมวิจัยใช้ตัวเลขปริมาณอ้างอิงว่าไม่ควรรับสารดังกล่าวเกิน 7,000 นาโนกรัมต่อวันต่อน้ำหนักตัว 1 กก. แต่ในรายงานวิจัยกลับระบุว่า สำหรับผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนัก 60 กก. ควรมีปริมาณรับสารนี้เข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 42,000 นาโนกรัม/วัน แทนที่จะเป็นค่าที่ถูกต้องซึ่งก็คือ 420,000 นาโนกรัม/วัน ขณะที่ปริมาณการรับสาร BDE-209 เข้าสู่ร่างกายต่อวันที่ค้นพบในรายงานอยู่ที่ 34,700 นาโนกรัม จากการใช้ภาชนะที่ปนเปื้อน
“ด้วยเหตุนี้ เราจึงแก้ไขคำชี้แจงจาก ‘ปริมาณการบริโภคที่คำนวณต่อวันจะใกล้เคียงกับปริมาณอ้างอิงของ BDE-209 ของสหรัฐอเมริกา’ เป็น ‘ปริมาณการบริโภคที่คำนวณต่อวันยังคงต่ำกว่าปริมาณอ้างอิงของ BDE-209 ของสหรัฐอเมริกาหลายเท่า’ ผู้เขียนรายงานชี้แจงพร้อมกับกล่าวขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น และย้ำว่าความผิดพลาดดังกล่าวไม่มีผลต่อบทสรุปของรายงาน
สรุปว่า ภาชนะและเครื่องใช้ในครัวที่เป็นพลาสติกสีดำนั้นมีสารหน่วงการติดไฟซึ่งก่อมะเร็งผสมอยู่จริง แต่ปริมาณที่อาจปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายยังคงต่ำกว่าปริมาณที่กำหนดว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายตามข้อมูลอ้างอิงของสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ชาวโซเชียลมีเดียก็ยังคงแสดงความเห็นเกี่ยวกับการใช้ภาชนะพลาสติกสีดำโดยแบ่งออกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายแรกยังคงมองว่าเครื่องครัวสีนี้มีอันตรายและควรเลิกใช้ เพราะแม้ว่าสารเคมีจะสู่ร่างกายได้ก็ต่อเมื่อเครื่องใช้มีรอยขีดข่วน แต่ก็สังเกตได้ยากเนื่องจากเครื่องใช้เป็นสีดำ ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็แย้งว่า ใช้ภาชนะและเครื่องครัวสีดำมานานแล้วและไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร
ที่มา : nypost.com