เมื่อวันที่ 2 ก.พ. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากการดำเนินการนโยบายให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้า และรถโดยสารประจำทางสาธารณะ(รถเมล์) ฟรี รวม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 – 31 ม.ค. 68 เพื่อต้องการให้ปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลดลง และให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถสาธารณะ รวมถึงเป็นการลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) พบว่า ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น

โดยมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ารวม 14,506,212 คน – เที่ยว เพิ่มขึ้น 39.62% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนเริ่มมาตรการในวันที่ 18 – 24 ม.ค.68 ที่มีผู้โดยสารรวม 10,389,766 คน – เที่ยว ส่วนรถเมล์ ขสมก. มีผู้ใช้บริการรวม 5,007,491 คน เพิ่มขึ้น 36.81% เมื่อเทียบกับ 7 วัน ก่อนเริ่มมาตรการฯ ที่มีจำนวนผู้โดยสารรวม 3,660,088 คน ขณะเดียวกันยังพบว่า ปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลลดลง 350,000 คัน ส่งผลให้ปริมาณมลพิษในอากาศลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ลดลงประมาณ 2,000 กิโลกรัม(กก.)ต่อวัน และแก๊สไนโตรเจน ลดลงกว่า 14,800 กก. ต่อวัน

“จากตัวเลขผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นว่าราคามีผลต่อการใช้บริการระบบรถไฟฟ้า จึงมั่นใจว่ามาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่จะให้บริการครบทุกสี ทุกสาย ทุกเส้นทางในช่วงเดือน ก.ย.68 จะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นแน่นอน และผู้ใช้บริการจะได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง จากการเริ่มใช้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมด้วยการใช้บัตรโดยสารใบเดียว ที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอย่างครอบคลุม ทั้งรถไฟ รถเมล์ และเรือโดยสารในราคาที่สมเหตุสมผล ช่วยลดค่าครองชีพในการเดินทางของประชาชน และช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ได้อีกทางหนึ่งด้วย” นายสุริยะ กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.68 ซึ่งเป็นวันแรกที่เริ่มกลับมาเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามปกติ หลังสิ้นสุดมาตรการรถไฟฟ้าฟรี พบว่า มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ารวม 1,316,239 ล้านคน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันเสาร์ในสามสัปดาห์ของเดือน ม.ค.68 ก่อนมีมาตรการฯ แต่หากเทียบกับวันเสาร์ที่ 25 ม.ค.68 ที่เป็นวันแรกของการใช้มาตรการฯ พบว่า ผู้โดยสารลดลงประมาณ 318,207 คน-เที่ยว คิดเป็นลดลงประมาณ 19.5%