“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า กรมทางหลวง(ทล.) และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจัดประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ(สัมมนาครั้งที่ 2) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข42(ทล.42)กับทล.4356(แยกบานา)และตัดถนนรามโกมุท ต. บานา อ.เมือง จ. ปัตตานี บริเวณกม. ที่106+350 ถึงกม.ที่109+000 เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2568 ที่ห้องประชุมศรีฟาฏอนี ที่ว่าการอำเภอเมืองปัตตานี โดยมีผู้นำชุมชน หน่วยงานและส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่เข้าร่วม

โครงการฯได้นำเสนอทางเลือกก่อสร้างสะพานต่างระดับตามแนวทล.42 เป็น 3 รูปแบบ

1.สะพานต่างระดับข้ามจุดตัดถนนรามโกมุทและข้ามแยกบานา(สะพานคู่ขาเข้า-ออก) ขนาด 4 ช่องจราจร

2. สะพานต่างระดับข้ามจุดตัดถนนรามโกมุทและข้ามแยกบานา(สะพานเดี่ยวฝั่งลงไปจ.นราธิวาสทิศทางเดียว) ขนาด 2 ช่องจราจร

3. สะพานต่างระดับข้ามจุดตัดถนนรามโกมุท(สะพานเดี่ยวฝั่งจากจ.นราธิวาส เลี้ยวขวาเข้าเมืองปัตตานี) และสะพานข้ามแยกบานา(สะพานเดี่ยวฝั่งขาลงไป จ. นราธิวาส) ขนาด 2 ช่องจราจร

ส่วนพื้นราบจุดตัดถนนรามโกมุทและแยกบานาเป็นแบบสัญญาณไฟจราจร

ซึ่งได้พิจารณาปัจจัยด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านค่าก่อสร้างและบำรุงรักษา รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม รูปแบบที่ 2 มีความเหมาะสมที่สุดได้ 94.60 คะแนนเต็ม 100 โดยทุกฝ่ายในที่ประชุมเห็นด้วยกับรูปแบบที่ 2

โครงการใช้เวลาศึกษา 450 วัน(15 เดือน) รวมการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ขั้นตอนต่อไปจะนำความคิดเห็นที่ได้รับจากการสัมมนาไปประกอบการศึกษาฯเพิ่มเติมก่อนประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 สรุปผลการศึกษาโครงการประมาณเดือนส.ค. 2568 พร้อมสรุปวงเงินงบประมาณก่อสร้างเบื้องต้นไม่เกิน 1 พันล้านบาทมีแผนเสนอของบประมาณก่อสร้างปี 69-70

สำหรับทล.42(ถนนสายปัตตานี–นราธิวาส) เป็นเส้นทางคมนาคมสายหลักเชื่อมจังหวัดภาคใต้ตอนล่างพาดผ่านจ.ปัตตานีมีชุมชนและสถานที่สำคัญหลายแห่ง โดยแยกบานาและแยกถนนรามโกมุทห่างกัน 600 เมตร มีลักษณะเป็น3แยกใช้สัญญาณไฟจราจร ประชาชนในพื้นที่ จ. ปัตตานีไม่ได้รับความสะดวกในการใช้รถใช้ถนน เนื่องจากมีปริมาณการจราจรหนาแน่นมีทางแยกและจุดกลับรถที่ไม่สะดวกทำให้ขับขี่รถย้อนศรก่อให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งนำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน