นายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมประมงได้ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2568 (ปิดอ่าวไทย) ใน 2 ช่วงเวลาต่อเนื่องกัน ได้แก่ ช่วงที่ 1 : วันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค. 2568 กำหนดมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเพิ่มเติมรายละเอียดการอนุญาตให้ใช้เครื่องมือประมงบางชนิด และช่วงที่ 2 : วันที่ 16 พ.ค. – 14 มิ.ย. 2568 กำหนดมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทั้งได้ออกประกาศกรมประมงเพิ่มเติม จำนวน 4 ฉบับ เพื่อให้เกิดความชัดเจนครอบคลุมรายละเอียดด้านเครื่องมือและอุปกรณ์การทำประมง ตลอดจนมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2568 ลงวันที่ 22 มกราคม 2568 2. ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2568 ลงวันที่ 22 มกราคม 2568
3. ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 4. ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568
สำหรับมาตรการ “ปิดอ่าวไทย” เป็นมาตรการสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ และการบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืน ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้ร่วมบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงพี่น้องชาวประมงในพื้นที่ที่ให้ความร่วมมืออย่างดีมาโดยตลอด ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับปรุงมาตรการในครั้งนี้จะช่วยคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ ให้ได้มีโอกาสผสมพันธุ์ วางไข่ และสร้างประชากรสัตว์น้ำรุ่นใหม่ขึ้นมาหมุนเวียนในระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืน