เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะ กมธ.การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา คนที่สาม แถลงว่า เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะ กมธ. ได้มีการพิจารณาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการเพื่อรองรับนโยบายด้านการค้าของสหรัฐอเมริกาที่มีมาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนโนยายดังกล่าวนั้น ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมของไทยอย่างหนัก จากการที่รัฐบาลใหม่ของสหรัฐ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 โดยจะมีผลในวันที่ 12 มี.ค. ที่จะถึงนี้ ทำให้สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากประเทศไทย ที่อยู่ในระหว่างทางขนส่งไปยังสหรัฐ จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราใหม่ จากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของรัฐบาลสหรัฐ ในครั้งนี้

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสถานทูตหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ได้ยื่นหนังสือขอผ่อนผันการขึ้นภาษีไปยังรัฐบาลสหรัฐ และรัฐบาลสหรัฐ ก็เชิญตัวแทนของสองประเทศนั้นไปชี้แจงประกอบการพิจารณาผ่อนผัน แต่ไม่ปรากฏหรือมีข่าวว่าสถานเอกอัครราชทูตไทยยื่นหนังสือขอผ่อนผัน นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐ มีนโยบายจะประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าประเภท รถยนต์ ยา และอีกหลายรายการ โดยให้มีผลในต้นเตือน เม.ย. นี้ แต่ไม่เห็นมีข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ว่ามีมาตรการเตรียมการอย่างไรบ้าง ตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ชนะการเลือกตั้งจนถึงขณะนี้ รัฐบาลไทยยังไม่มีการเตรียมการอะไรเลย นอกจากการจัดตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ประชาชนไม่เคยรับทราบว่าคณะทำงานชุดนี้ได้เตรียมการทางยุทธศาสตร์อะไรบ้าง  

นายจุลพงศ์ กล่าวต่อว่า ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่ได้เตรียมการอะไรอื่นเลยนอกจากตั้งคณะทำงานดังกล่าว ทั้งที่รัฐบาลสามารถทำงานเชิงรุกได้มากกว่านี้ และการเดินทางไปเยือนสหรัฐ ของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนคิดว่าจะไปทำงานเชิงรุกเจรจากับสหรัฐ เพื่อช่วยเหลือสินค้า แต่กลายเป็นว่าเป็นการเยือนเพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าผิดหวัง  จากนโยบายด้านการค้าของสหรัฐอเมริกา ที่มีมาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น สร้างผลกระทบทางลบต่อรายได้การนำเข้าของประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง เพราะสหรัฐ เป็นตลาดสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการส่งออกสินค้าของไทย

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า วันนี้ตนจึงมีข้อเสนอ 3 ข้อ เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาอย่างเร่งด่วน 1.รัฐบาลต้องกระตือรือร้น และมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงพาณิชย์ จะต้องเร่งกำหนดมาตรการเชิงรุกและวางยุทธศาสตร์ในการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐ โดยเร่งด่วนและต้องประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ ในการทำงานของสถานทูตไทยในสหรัฐ ให้มากกว่านี้ 2.เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ และทีมงานด้านการค้า มีภูมิหลังมาจากนักธุรกิจจากภาคเอกชน ดังนั้น ในการเจรจากับสหรัฐ ตนขอเสนอให้รัฐบาลไทยตั้งคณะทำงานการเจรจากับสหรัฐ ขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง โดยให้มีคนจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทยเข้าเป็นทีมงานด้วย อย่าให้มีแต่ข้าราชการประจำเท่านั้น เพราะทีมเจรจาของไทยจะต้องเตรียมหัวข้อการเจรจาที่ตรงประเด็นและกระชับ มีการเตรียมข้อมูลการค้า สินค้าและด้านบริการ ให้พร้อมเพื่อการเจรจา ส่วนคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ ที่รัฐบาลแต่งตั้งไปแล้ว เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก็ให้เป็นผู้กำหนดนโยบายการเจรจาและสนับสนุนข้อมูลให้กับทีมเจรจา และ 3.สื่อสารไปยังประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคการผลิตและการส่งออกให้ได้รับรู้ว่ารัฐบาลจะเอายังไง และจะมีมาตรการเช่นใด เพราะตอนนี้ประชาชนไม่รู้จะไรเลย.