จากกรณีสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยข้อมูลการรักษาพยาบาลกลุ่มแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวมปี 2567 โดยระบุว่า จากศักยภาพการรักษาของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านชายแดน ทำให้มีคนต่างด้าวเข้ามาใช้บริการรักษามากถึง 3.8 ล้านครั้ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยค่ารักษาที่เรียกเก็บไม่ได้จากคนต่างด้าวในพื้นที่ชายแดน พบว่าสูงขึ้น ปีงบประมาณ 2567 มีมูลค่าถึง 9.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ถึง 8.2 เท่า

วันที่ 27 ก.พ. เวลา 11.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า เรื่องนี้หูหนวกตาบอด เพราะคณิตศาสตร์สุขภาพมันไปไม่ได้อยู่แล้ว และงบหลักประกันสุภาพปีหนึ่ง ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท แล้วแรงงานต่างด้าวจะ 9 หมื่นล้านได้อย่างไร อย่างที่ จ.ตาก แม่สอด ราวๆ 92 ล้านบาท ดังนั้น เรื่องนี้มีความไม่ถูกต้อง จึงต้องดูว่าที่ออกมานี้มีอะไรผิดพลาดแน่นอน และให้เขาคุยกัน ทั้งนี้ ตัวเลขที่ออกมา นอนเซนส์ ตรงนี้ก็ต้องไปทำให้ถูก

นายสมศักดิ์ กล่าว่า ย้ำว่า ตัวเลขมีความคาดเคลื่อน และเราไม่ได้แถลงข่าว แต่เป็นตัวเลขที่ส่งกันไปส่งกันมา เป็นเรื่องจุดทศนิยม เครื่องหมายคอมม่า เช่น ตัวเลข 100.500 กับ ตัวเลข 100,500 เป็นต้น ลักษณะนี้ความหมายของจำนวนก็แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม กรณีที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ในช่วงที่ผ่านมา เราก็พยายามเก็บอยู่ แต่เก็บไม่ได้เยอะ ประมาณไม่ถึง 2 พันบาท เป็นประกันบ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบคนไทย ทั้งนี้ จากตัวเลขที่เก็บไม่ได้นั้น จะกระโดดสูงในปีที่มีการระบาดของโรคโควิด -19 เมื่อปี 2564-2565 ตอนนี้ก็ลดลงแล้ว แต่โดยเฉลี่ยอย่างปีล่าสุด ที่มีข้อมูลล่าสุดคือ 2,050 ล้านบาท เท่ากับน้อยลง 500 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เรื่องข้อมูลที่คาดเคลื่อนนี้ มีการคุยกันแล้ว ส่วนทางสภาพัฒน์จะปรับตัวเลขหรือไม่ ก็ต้องไปถามทางสภาพัฒน์

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตัวเลขที่ส่งไปนั้น เป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้มีการคลีนซิ่ง หรือเป็นข้อมูลอย่างเป็นทางการที่แจ้งไป ดังนั้นที่ประชุมจึงมีการหารือและย้ำว่า จากนี้ เมื่อหน่วยงานต่างๆ ขอข้อมูลเข้ามา ก็ขอให้ทำอย่างเป็นทางการ ทางกระทรวงสาธารณสุข พร้อมที่จะตอบกลับไปเป็นทางการ เพราะถ้าเอาข้อมูลที่ยังไม่ได้ยืนยันไป พอเป็นข่าวก็จะเป็นประเด็นได้

“ตัวลข 9 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้คลีนซิ่ง ยังไม่ได้เคลียร์ผิด เคลียร์ถูก บางทีเป็นข้อมูลซ้ำซ้อนกัน” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.สวัสดิ์ชัย นวกิจรังสรรค์วร ผอ.กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เป็นข้อมูลดิบที่ต้องมาตรวจสอบข้อมูลกันก่อน เพราะบางครั้งเราคีย์ข้อมูลเคสหนึ่งเป็นพันล้านบาท ก็จะต้องมาตรวจสอบกันก่อน ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายที่กระทรวงสาธารณสุขใช้เรียกเก็บจากประชากรต่างด้าวไม่ได้ ย้อนหลัง 5 ปี เฉลี่ยปีละประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อปี ใน 31 จังหวัด เฉลี่ยจังหวัดละ 66.25 ล้านบาท  อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่ตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุขต้องอนุเคราะห์ทั้งหมด แต่จะมีบางส่วนที่มีองค์กรนานาชาติ เอ็นจีโอนานาชาติสนับสนุนบางส่วน บางส่วนเป็นการบริหารจัดการขอโรงพยาบางแต่ละแห่ง เช่น เปิดคลินิกนอกเวลา หรืออื่นๆ เพื่อนำรายได้มาดูแลตรงนี้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขจะดูอยู่ เช่น เรื่องการควบคุมสุขาภิบาล เรื่องโรคระบาดต่างๆ จำเป็นต้องให้การรักษา และรักษาตามหลักสิทธิมนุษยชน.