นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวในการเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) เข้าร่วมกว่า 200 คน ที่โรงแรมนภาลัย จ.อุดรธานี ว่า ประเทศไทยมีมรดกวัฒนธรรม โบราณสถานจำนวนมาก หน่วยงานภาครัฐอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง กรมศิลปากรจึงมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชน องค์กรภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรมร่วมกัน เข้ามาเป็นเครือข่ายและมีส่วนร่วมในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติโดยการให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางและมาตรฐานในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมด้านโบราณสถาน ศิลปกรรมในเขตโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ รวมถึงมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น เอกสารโบราณ จดหมายเหตุ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในคุณลักษณะ คุณค่า และความสำคัญของมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่มีต่อชาติและท้องถิ่น รวมถึงกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หน้าที่และความรับผิดชอบของกรมศิลปากร

นายพนมบุตร กล่าวต่อไปว่า น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม ได้มอบนโยบายให้กรมศิลปากรเสริมสร้างระบบนิเวศและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรม ยกระดับการบริการของพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์ ส่งเสริมและสร้างสรรค์ทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ ดังนั้นในการจัดอบรมดังกล่าวจึงเน้นให้ความรู้ในเรื่องของการดูแลรักษาสิม (อุโบสถ) ในภาคอีสาน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะทางสถาปัตยกรรม สะท้อนภูมิปัญญา และวิถีชีวิตของผู้คนในภาคอีสานในอดีต และบางแห่งยังมีการใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน กรมศิลปากรจึงมีแผนที่จะบูรณะให้ได้มากที่สุด และจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสายบุญ นอกจากเป็นการรักษามรดกวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษสร้างไว้ไม่ให้สูญหายแล้ว ยังยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย