เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 1 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ สโลว์คอมโบ สามย่าน เขตปทุมวัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงาน ‘Echoes of Hope ให้กฎหมายทำงาน ให้ความยุติธรรมเป็นจริง: 2 ปี พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย’ เพื่อร่วมย้อนเส้นทางตลอด 2 ปี ที่ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายฯ ทั้งบทเรียน เรื่องราว หลักการ และความทรงจำ
โดยในงานมี 2 วงเสวนาแล้ว ยังมีกิจกรรมฉายหนังสั้น 2 เรื่อง ได้แก่ สุสานดวงดาว และ ร่างอันตรธาน รวมถึงการแสดง Performance Art จากกลุ่มลานยิ้มการละคร อีกด้วย
สำหรับการเสวนาช่วงที่ 2 ‘ครบรอบ 2 ปี พ.ร.บ.ทรมานฯ พัฒนาการ ปัญหา ข้อท้าทายและข้อเสนอแนะ’ โดย นางกัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม ธีรวุฒิ ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย, นายสมชาย หอมลออ คณะกรรมการ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหายฯ , น.ส.แก้วกัญญา แซ่ลี ภรรยาของ พลทหารกิตติธร เวียงบรรพต, น.ส.พรพิมล มุกขุนทด มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ดำเนินรายการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย
ในตอนหนึ่ง นายสมชายกล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นตัวแทนมาพูดในฐานะกรรมการชุดนั้น ทั้งนี้ เพราะกรณีการส่งกลับชาวอุยกูร์ 40 คน ซึ่งคณะกรรมการชุดของตน ควรจะทำหน้าที่ ‘ตรวจสอบการดำเนินการของรัฐบาล’ ว่าการกักตัว ส่งกลับชาวอุยกูร์นั้น ชอบด้วยหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ไทยมีอยู่หรือไม่
“ผมรู้สึกอาย ที่ประธานคณะกรรมการฯ ไปนั่งแถลงข่าวร่วมกับรมว.กลาโหม และการให้เหตุผล ซึ่งดูแล้ว ไม่น่าจะรับฟังได้ในการส่งกลับชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คน เรื่องนี้เป็นพันธกิจ ที่ต้องทำตามข้อตกลงระหว่างประเทศ” นายสมชายกล่าว
นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า ในฐานะรอง กมธ.วิสามัญ ในการพิจารณาร่างกฎหมาย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ นี้ เราเองก็เป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่ตนเคยเป็นประธาน ได้ผลักดันเรื่องนี้โดยใช้เวลา 15 ปี เพื่อให้มี พ.ร.บ.อุ้มหาย เกิดขึ้น เพื่อให้ไทยปฏิบัติตาม อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำตามอนุสัญญา
“สำหรับ2 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีปัญหามาก กฎหมายโดยเนื้อหาแล้ว ค่อนข้างสอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ บางเรื่องยังไปไม่ถึง เช่น อายุความ เป็นต้น เราจัดทำ พ.ร.บ.อุ้มหาย ฉบับนี้ เพื่อทำลายกรอบความคิดที่จำขังประชาชนทั้งประเทศ ที่ถูกครอบด้วยแนวคิด อำนาจนิยม กฎหมายจึงมีบทบัญญัติให้มีสิ่งใหม่ต่างๆ มากมาย เช่น ให้อัยการ ดูแลการสอบสวนหากมีการจับกุมคุมขังไม่ชอบ, ต้องให้ศาลไต่สวนได้ เช่นเดียวกับ กรณีอุยกูร์ เป็นต้น เพื่อให้ศาลได้ไต่สวน แต่เป็นที่น่าเสียดาย เรื่องเหล่านี้ผ่านไป 2 ปี ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในกระดาษ จะทำอย่างไรให้กระดาษมีผลในทางปฏิบัติ” นายสมชายกล่าว
นายสมชาย ยังกล่าวต่อไปว่า นอกจากทำความเข้าใจ ยังต้องตรวจสอบเจ้าหน้าที่ด้วย ทุกคนรวมถึงผู้เสียหาย ต้องไม่รีรอในการใช้กฎหมายฉบับนี้ ยื่นคำร้อง แจ้งความ ติดตาม รณรงค์ต่อไป เราเชื่อว่าความหวังและความสำเร็จจะเกิดขึ้น
ขณะที่ น.ส.สุภัทรา กล่าวถึงกรณีของการส่งชาวอุยกูร์ว่า สำหรับเรื่องนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.) พยายามทำในสิ่งที่ทำได้ เช่น การออกหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในวันที่มีการส่งตัว พร้อมแสดงข้อห่วงกังวล ทั้งนี้การประชุมของกสม.ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้จะมีการหยิบยก กรณีของอุยกูร์ขึ้นมา ว่าจะมีการตรวจสอบเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะอาจจะเข้าข่าย การละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ รวมทั้งประเด็นเรื่องที่มีข้อสงสัย เช่น เรื่องการที่ระบุว่าสมัครใจกลับไปจริงหรือไม่ ประเด็นเรื่องที่ระบุว่าไม่มีคนขอรับตัวทั้งที่ข้อเท็จจริงบางส่วนครอบครัวย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ตุรกีแล้ว ซึ่งประเด็นต่างๆเหล่านี้ ก็อาจจะเข้าข่ายเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็จะมีการหยิบยกขึ้นมาตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม ภารกิจหนึ่งของกสม.ก็คือการ Monitor และทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี เพื่อเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี สำหรับกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายที่ช่วยทุกฝ่ายโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ เป็นกฎหมายที่ช่วยปกป้องเจ้าหน้าที่ เพราะมีกำหนดว่า จะต้องมีการบันทึกภาพและเสียงตลอดเวลาที่มีการควบคุม ถ้าหากมีการร้องเรียนก็สามารถนำภาพนี้มาชี้แจงได้
ส่วนเรื่องของพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ในส่วนของกสม.ที่ผ่านมาได้มีการเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเข้าร่วมเป็นภาคีในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (OPCAT) ซึ่งจะส่งเสริมเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำการทรมานและอุ้มหาย และอีกหนึ่งเรื่องที่กสม.กำลังติดตาม คือการออกอนุบัญญัติของคณะกรรมการ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหายฯ และสิ่งที่คณะกรรมการชุดนี้จะต้องทำอย่างเร่งด่วน นั่นก็คือการออกระเบียบเกี่ยวกับเรื่องเยียวยา ซึ่งยังล่าช้าอยู่ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
” สุดท้ายเรื่องที่เรานั่งคุยในวงเสวนาในวันนี้คงไม่ใช่เพียงคนใดคนหนึ่งที่จะทำได้แต่เราต้องช่วยกัน สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องช่วยกันทำให้ความจริงปรากฏ เพราะเรื่องของการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะสิทธิในชีวิตสำคัญที่สุด แม้ว่าในภาวะสงคราม หรือในภาวะสถานการณ์ฉุกเฉินใดๆก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะ สามารถทำให้เกิดการ ทรมานหรือการบังคับให้สูญหายได้ ซึ่งเป็นข้อชัดเจนในอนุสัญญาระหว่างประเทศ กสม.พยายามทำให้ผู้ปฏิบัติคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”