“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “เกมการเมืองไทย ณ วันนี้” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,227 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 4-7 มีนาคม 2568 พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่มองว่าลักษณะของ “เกมการเมือง” คือ การแบ่งเค้ก แบ่งตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ร้อยละ 62.75 ในรัฐบาล แพทองธาร กรณีที่เป็นการเล่นเกมการเมือง คือ การโจมตีกันไปมา ปล่อยข่าวปลอม ดิสเครดิต ร้อยละ 60.46 โดยมองว่า เกมการเมืองนั้นเป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย เพราะมีมานาน เห็นมาทุกยุคสมัย มุ่งหวังแต่อำนาจและผลประโยชน์
ทั้งนี้มองว่ามีผลต่อการพัฒนาประเทศมาก เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ร้อยละ 42.95 สุดท้ายกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 79.63 เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าเกมการเมืองทำให้การเมืองไทยล้าหลังประเทศอื่น ๆ

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยคุ้นชินกับเกมการเมืองที่มีมานานและรับรู้ถึงโครงสร้างการเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์และการแข่งขันเชิงอำนาจ แม้หวังพึ่งการเลือกตั้งให้การเมืองเปลี่ยน แต่สุดท้ายก็ต้องเผชิญกับ “เกมการเมืองเดิม” ในรูปแบบใหม่ หมุนวนซ้ำซากทำให้สังคมติดหล่ม กลายเป็นพลวัตทางสังคมแบบปกติใหม่ที่ไม่ควรจะปกติ การจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นมากขึ้นก็คงจะต้อง “ลดเกมการเมือง เพิ่มการทำงาน” เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขมภัทท์ เย็นเปี่ยม หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า จากผลโพลเกี่ยวกับประเด็น “เกมการเมืองไทย” ประชาชนมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่นักการเมืองเมื่อเข้ามาสู่อำนาจแล้วจะเข้ามาจัดสรรผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้องมากกว่าการจัดสรรผลประโยชน์และกระจายผลประโยชน์ให้แก่ประชาชน โดยแท้จริงแล้วประชาชนอยากเห็นเกมการเมืองที่แต่ละพรรคแข่งขันกันในเชิงนโยบายและการแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากกว่าเกมการเมืองที่เข้ามาช่วงชิงอำนาจ โดยการพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดขั้วอำนาจทางการเมืองฝั่งตรงข้าม และพร้อมที่จะหักหลังจัดการฝ่ายเดียวกันเองเพื่อรักษาฐานอำนาจทางการเมืองของตัวเองไว้ การที่นักการเมืองมุ่งแต่จะแก้เกมทางการเมืองเพื่อต้องการกุมความได้เปรียบทางการเมืองจึงส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองที่ประชาชนรู้สึกว่าล้าหลังและไม่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น สิ่งที่ประชาชนคาดหวังและอยากเห็นคือเกมการเมืองที่แข่งกันแก้ปัญหาด้วยนโยบายมากกว่าการแก้เกมทางการเมือง.