เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ มีการพิจารณาวาระกระทู้ถาม นายชูชีพ เอื้อการณ์ สว. ถาม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เรื่องผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หากไม่ทันค่าของชีพที่สูงขึ้น และแนวทางลดค่าของชีพของประชาชน การดูแล SME ทั้งระยะสั้นระยะยาว
โดยนายพิพัฒน์ กล่าวว่า ตนรับที่จะหารือกับ รมว.คลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ในหลายประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับเอสเอ็มอี (SME) ควรจะดูแลอย่างไร ขณะเดียวกัน นอกจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว จะต้องดูแล 13 อาชีพ ให้ได้รับการอัพสกิล รีสเกล ยกระดับฝีมือแรงงาน เว้นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่นอกเหนืออำนาจตามกฎหมาย แต่ก็จะพยามดูแลให้ได้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับสูตรคำนวณดูแลเยียวยาของผู้ทำงานประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 ส่วนตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ มีการประชุมเมื่อสัปดาห์ก่อน เกี่ยวกับการส่งเสริมตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ ปัจจุบันสถานประกอบการต่างๆ มีการดำเนินการตั้งสหกรณ์ได้ กรณีที่มีพนักงาน 50 คนขึ้นไป ซึ่งปัจจัยที่สำคัญคือเจ้าของกิจการจะร่วมสนับสนุนได้อย่างไร และผู้ใช้แรงงานพนักงานในบริษัทจะรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์อย่างไร
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้คิดว่า เมื่อผู้ใช้แรงงานได้เกษียณอายุไป จะทำอย่างไร ตอนนี้อยู่ในช่วงของการทำประชาพิจารณ์ คาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือน มี.ค. นี้ ว่าหากเกษียณอายุ 60 ปีไปแล้ว ยังมีอายุอีก 20 ถึง 30 ปี เงินในส่วนนั้นจะทำอย่างไรให้สามารถยังชีพอยู่ได้ หากไม่มีบุตรหลานคอยดูแล กระทรวงแรงงาน คิดทุกวิถีทาง และเบื้องต้นที่พยายามมากที่สุดขณะนี้คือการทำประกันสังคม จะเข้าเยียวยาและดูแลเพิ่มเติมได้อย่างไร แต่อีกส่วนคือที่ย้อนแย้งกรณีประกันสังคม มีส่วนที่ต้องรับภาระคนเข้าในระบบประกันสังคม ซึ่งผู้ใช้แรงงานที่เกษียณอายุแล้ว จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี
“ในปี 2597 มีการกล่าวหาว่า กองทุนประกันสังคมจะถึงการอวสาน คือล้มละลาย เพราะฉะนั้นการทำให้ล้มละลาย แน่นอนว่าจะต้องพยายามเอาเงินกองทุนปัจจุบัน มีเปอร์เซ็นต์การเจริญเติบโตอีก 10 ปีข้างหน้า โดยในปีสุดท้ายก่อนครบและดาวน์ลง ต้องพิจารณาว่ามีเงินที่จะลงทุนประมาณเท่าไหร่ ค่าประมาณการว่าอยู่ในช่วง 5-6 ล้านล้านบาท ซึ่งหลังจากนั้นจะต้องดูดอกผลต่อว่า ดอกผลจากเงินทุนประกันสังคมจะเป็นอย่างไร มีความเสี่ยงแค่ไหน“ นายพิพัฒน์ กล่าว
รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า หากยืดอายุกองทุนประกันสังคมได้ จากนั้นจะคิดสูตรว่า ในแต่ละปี การประกันตนตาม มาตรา 33 และมาตรา 39 จะมีการขยายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนได้อย่างไร หากอีก 2 ปีข้างหน้า มีการเดินสู่เป้าหมายที่ชัดเจน จะพิจารณาต่อว่ากองทุนประกันสังคมจะให้เงินสำหรับสงเคราะห์ผู้เกษียณอายุเพิ่มขึ้นจำนวนเท่าไหร่เพื่อยังชีพ ซึ่งคนไทยมีอายุเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80 ปี.