นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยหลัง ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ทางวิชาการเพื่อขับเคลื่อนโครงการ “Making NbCS in Aquaculture in Southeast Asia Monitoring More Gender Responsive: (GeNA Project) และความร่วมมือทางวิชาการด้านการประมง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านงานวิจัยและการพัฒนาด้านการประมงไทยโดยคำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศและการมีส่วนร่วมทางสังคมในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยใช้ธรรมชาติเป็นฐานในการแก้ปัญหา  การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กับ ศ.ไผ่-ฉี ลี                   อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ได้ ว่า กรมประมง ในฐานะหน่วยงานของรัฐสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ทำการศึกษา ค้นคว้า สำรวจ วิจัย วิเคราะห์ และทดลองทุกสาขาวิชา  ด้านการประมง ตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวกับการประมงของประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการพัฒนาการประมง ให้ทันตามกระแสต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงเป็นที่มาในการทำบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันกับ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยร่วมกัน ซึ่งความร่วมมือนี้จะมุ่งเน้นการส่งเสริมการศึกษา การวิจัย การเสริมสร้างความสามารถและการแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อสนับสนุน  การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาที่คำนึงถึงมิติทางเพศ เพื่อผลักดันและส่งเสริมการดำเนินงานในการพัฒนาด้านการวิจัยและวิชาการประมงเพื่อแก้ปัญหาและ ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงนำองค์ความรู้ที่ได้จากการร่วมมือระหว่างกัน ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกร ให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เป็นการสร้างรายได้และอาชีพให้เกิดความมั่นคงต่อไป

กรมประมงและสถาบัน AIT ได้ขับเคลื่อนโครงการ “Making NbCS in Aquaculture in Southeast Asia Monitoring More Gender Responsive ” : (GeNA Project) นี้ ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (IDRC) โดยมีการดำเนินโครงการนำร่องใน 3 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และประเทศไทย โดยในส่วนของประเทศไทยได้ดำเนินโครงการนำร่องในการเพาะเลี้ยงปลาในนาข้าว  โดยพัฒนาการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยใช้ธรรมชาติเป็นฐานในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยยกระดับ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทยให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น ด้วยการผนึกกำลังทางวิชาการและเทคโนโลยีจาก AIT ทำให้สามารถพัฒนาโมเดลการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และสามารถนำไปเป็นต้นแบบนำไปต่อยอดขยายผลในพื้นที่อื่นและปรับใช้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับมิติทางเพศและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม จะช่วยให้การพัฒนาภาคเกษตรกรรมเป็นไปอย่างสมดุลและยุติธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในภาคเกษตรกรรม รวมถึงกระตุ้นให้เกิด การมีส่วนร่วมของชุมชนในกระบวนการพัฒนาสู่อนาคตของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม