เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับคำร้องของ สว. 81 คน ที่ให้ตรวจสอบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ที่รับคดีฮั้ว สว. ฐานฟอกเงินเป็นคดีพิเศษ มีคำร้องทั้งส่วนของ พ.ต.อ.ทวี และ พ.ต.ต.ยุทธนา และยังมีการร้องกล่าวโทษคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ที่มีมติให้ดีเอสไอสอบ 11 คนด้วย ในข้อหาใช้อำนาจเกินขอบเขต กคพ. และเจตนาพิเศษของ กคพ. แทรกแซงอำนาจ กกต.หรือไม่

นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกระแสข่าว ป.ป.ช. มีมติ 7 : 0 รับเรื่อง สว.ร้องดีเอสไอ กระทำเกินกว่าอำนาจ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติรับดำเนินการไต่สวนแล้วนั้น ที่จริงแล้ว สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับทราบถึงการมายื่นเรื่องร้องเรียน ยังมิได้มีมติให้ดำเนินการไต่สวนเรื่องดังกล่าว

ที่รัฐสภา น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. พร้อมด้วย “ทนายอั๋น” ภัทรพงศ์ ศุภักษร ที่เคลื่อนไหวตรวจสอบเรื่องการเลือก สว.มาตลอด ร่วมแถลงข่าว น.ส.นันทนา กล่าวว่า ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ มี วาระที่จะเข้ามา คือการเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน แต่ขณะนี้ เรื่องการได้มาซึ่ง สว.ยังเป็นที่สงสัย และถูกตรวจสอบ

“หากจะมีการลงมติในวันที่ 18 มี.ค.นี้ ก็อาจจะส่งผลกระทบในระยะยาว ถ้าคนที่เป็น สว. ขาดคุณสมบัติแล้วไปลงมติเห็นชอบให้กับผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ จะส่งผลให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนั้น เป็นโมฆะและจะเป็นผลกระทบระยะยาว ขอเรียกร้องให้บรรดา สว. ทั้งหมดชะลอการลงมติเห็นชอบองค์กรอิสระในวันที่ 18 มี.ค.นี้ไปก่อน จนกว่าการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะตรวจสอบจนสิ้นสงสัย ว่ากระบวนการได้มาซึ่ง สว. นั้นสุจริตโปร่งใส”
ด้านทนายอั๋น กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการลงมติในวันที่ 18 มี.ค.นี้ ด้วยข้อห่วงใย 3 ประการ คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคงเหลืออยู่ 7 คน ซึ่งทั้ง 7 คนนี้ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และยังไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน แม้ สว. กลุ่มดังกล่าวจะอ้างว่าตนเองยังบริสุทธิ์อยู่ แต่การสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ จะทำให้ไม่มีความสง่างาม กลุ่ม สว. ได้แถลงข่าวที่สำนักงาน ป.ป.ช. ว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเมือง และแสดงตนว่าอยู่ขั้วการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาล แปลว่าองค์กรอิสระที่ สว. คัดเลือกมา ก็อาจจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่สุจริต หรือกลั่นแกล้งกันทางการเมืองได้

สำหรับเรื่องความคืบหน้าในการตกลงขอเวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ จ.เชียงราย “หัวหน้าเท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ฝ่ายค้านยืนยันกรอบ 30 ชั่วโมง ถ้าน้อยกว่านี้จะทำให้เนื้อหาที่เตรียมมาตกหล่น ขณะเดียวกันฝั่งรัฐบาลก็มีกรอบของเขา ไม่ยอมถอยให้เราก้าวหนึ่ง จึงเป็นที่มาที่ไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้เมื่อวันที่ 13 มี.ค.

“กรอบเวลา 20+10 (ฝ่ายค้าน 20 ชม. รัฐบาล 10 ชม.) เห็นว่า ถ้าจะใช้กรอบนี้จริงๆ 2 วันก็ไม่พอ เพราะเต็มที่ประชุมกัน 1 วัน ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมงแล้ว 2 วัน 30 ชั่วโมงพอดี ไม่ต้องเผื่อเวลาประท้วงหรือประธานวินิจฉัยอะไรเลย พวกเรายืนยันว่า ควรจะต้องมีการขยายวันประชุมด้วย ถ้ายึดตามสมัยประชุมที่จะปิดสมัยในวันที่ 10 เม.ย.นี้ สัปดาห์หน้า คาดหวังว่าจะได้ข้อสรุป”

ส่วนการตัดชื่อ “อดีตนายกฯ แม้ว” ทักษิณ ชินวัตร ออกจากญัตตินั้นเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ขอเปิดเผยคำ เพราะมันเกี่ยวข้องกับเรื่องเวลาอภิปราย ขอให้รอประชุมร่วมกันกับรัฐบาลตกลงเวลาแล้วจะแก้ญัตติส่งกลับไปทีเดียว คิดว่าการเลือกใช้คำ ก็ส่งผลกับการที่รัฐบาลจะยอมหรือไม่ยอมให้เราเดินหน้าต่อ

เมื่อถามถึงกรณีที่ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ตอบรับว่า “ได้” หลังจากฝ่ายค้านขอเวลา 30 ชั่วโมง หัวหน้าเท้ง กล่าวว่า ในเมื่อผู้นำฝั่งรัฐบาล นายกฯ พูดออกมาชัดเจนว่า ไม่มีปัญหา นายกฯ ไฟเขียวอยากมาตอบชี้แจงด้วยตัวเองขนาดนี้ ก็คิดว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่ฝั่งรัฐบาลจะต้องมากั๊กเวลากับพวกเรา ควรจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านทำงานอย่างเต็มที่

ส่วนที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม ให้สัมภาษณ์ว่า จะมีงูเห่าจากฝ่ายค้านถึง 10 คนนั้น เชื่อว่าพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรค ปชน. ไม่มีงูเห่าแน่นอน ส่วนจะคาดโทษอะไรหรือไม่ ปล่อยให้เป็นการจัดการของแต่ละพรรค
ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค พปชร. มุ่งมั่นในการนำทัพ สส.ของพรรคอภิปรายนายกฯ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของนายกฯ สาเหตุที่ พล.อ.ประวิตรจะร่วมอภิปรายด้วยตัวเอง ก็เพราะให้ความสำคัญกับการทำงานของบทบาทพรรคร่วมฝ่ายค้านในรัฐสภา

“พรรค พชปร. จะไม่เข้าร่วมกับรัฐบาลที่มีปัญหาโดยการนำของนายกฯ คนนี้ ใครเข้าไปก็เปรอะเปื้อน เพราะมีแต่เรื่องไม่ดี พปชร.ไม่มีทางไปร่วมด้วยเด็ดขาด เราจะไม่เป็นฝ่ายรัฐบาลแน่นอน เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องไปทำอย่างนั้น ในทางการเมืองเรามุ่งหวังที่จะเร่งรัดให้มีการยุบสภา หัวหน้าพรรคก็ลงมือหาผู้สมัครต่าง ๆ ด้วยตัวท่านเอง ซึ่งถ้าดูในแง่ประวัติการทำงานของพรรค เรามีสิทธิได้ สส.ถึง 60 คน”

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ยิ่งทำให้สังคมเข้าใจพรรค พปชร. และหันมาสนับสนุนเรามากขึ้น ขอให้รอดู การอภิปรายของ พล.อ.ประวิตร มีคุณภาพไว้ใจได้แน่นอน แค่หัวหน้าพรรคไปอภิปรายก็มีน้ำหนักสมบูรณ์แล้ว เพราะเห็นว่านายกฯ คนนี้ไม่ไหวแล้วจริง ๆ ซึ่งในการอภิปรายต้องมีอะไรแน่นอน เพียงแต่ผมไม่อยากพูดอะไรเกินไป ขอให้รอฟังวันอภิปรายเลยดีกว่า” นายไพบูลย์ กล่าว
ก็น่าสนใจรอดูลีลาพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ยืนอภิปราย ขออย่าให้เมื่อใกล้เวลาอย่าเปลี่ยนตัวก็แล้วกัน ส่วนการไม่ร่วมรัฐบาล เป็นเพราะ พปชร.ไม่เอาเขาหรืออย่างไร นึกถึงตอนจัดตั้งรัฐบาลก็คงเห็นภาพ.
“ทีมข่าวการเมือง”