เมื่อวันที่ 15 มี.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 68 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบางพื้นที่ และอุณหภูมิลดลง ส่วน 5 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาสเฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 16-20 มี.ค. โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัดในระยะนี้

ด้านนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (54/2568) ลงวันที่14 มี.ค. เวลา 11.00 น. แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานคร จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบางพื้นที่ โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าบางพื้นที่ จากนั้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 5-8 องศาเซลเซียส ภาคเหนือและภาคกลาง อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน จะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 17-20 มี.ค. ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร 

โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 16-20 มี.ค. ดังนี้ พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ได้แก่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อุณหภูมิลดลง ระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค. ได้แก่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ระหว่างวันที่ 17-20 มี.ค. ได้แก่ ภาคใต้ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 9 อำเภอ (อ.เมืองสุราษฎร์ธานี อ.ไชยา อ.ท่าชนะ อ.ท่าฉาง อ.พุนพิน อ.ดอนสัก อ.กาญจนดิษฐ์ อ.เกาะสมุย และ อ.เกาะพะงัน) จังหวัดนครศรีธรรมราช 6 อำเภอ (อ.เมืองนครศรีธรรมราช อ.ขนอม อ.สิชล อ.ท่าศาลา อ.ปากพนัง และ อ.หัวไทร) จังหวัดสงขลา 7 อำเภอ (อ.เมืองสงขลา อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ อ.สิงหนคร อ.จะนะ และ อ.เทพา) จังหวัดปัตตานี 6 อำเภอ (อ.เมืองปัตตานี อ.หนองจิก อ.ยะหริ่ง อ.ปะนาเระ อ.สายบุรี และ อ.ไม้แก่น) และจังหวัดนราธิวาส 2 อำเภอ (อ.เมืองนราธิวาส และ อ.ตากใบ)

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดย ปภ. ได้ประสานแจ้ง 68 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และภาคใต้ 5 จังหวัดฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที

ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ได้กำชับให้ 5 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา ให้แจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล และนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาด พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ ให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวัง หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ให้พิจารณาห้ามเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศ ประกาศการแจ้งเตือนภัย และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นในระยะนี้