สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ว่าแนวปฏิบัติที่ออกโดยหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงสำนักบริหารไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีน (ซีเอซี) มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ดีของภาคส่วนเอไอ และช่วยให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตตรวจจับข้อมูลอันเป็นเท็จได้ สืบเนื่องจากเทคโนโลยีเอไอมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้มีเนื้อหาออนไลน์จำนวนมหาศาลถูกผลิต หรือประกอบขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยความช่วยเหลือจากเอไอ ก่อนจะถูกแพร่กระจายไปบนไซเบอร์สเปซ
ขณะเดียวกัน มีการพบปัญหาการละเมิดจากเทคโนโลยีเอไอและการเผยแพร่ข้อมูลปลอมเกิดขึ้น จนก่อให้เกิดความกังวลทางสังคม และกระตุ้นให้จำเป็นต้องสร้างมาตรฐาน ในการแยกแยะเนื้อหาที่ผลิตจากเอไอ
การใช้เทคโนโลยีเอไอแบบผิดวัตถุประสงค์ จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงในวงกว้างเกี่ยวกับการปรับปรุงการกำกับดูแลภาคส่วนเอไอ ตัวอย่างเช่น การใช้เอไอสร้างรูปนักแสดงดังชาวจีนคนหนึ่งเพื่อนำไปหลอกลวงกลุ่มแฟนคลับของนักแสดงดังคนดังกล่าว เมื่อปี 2567
เพื่อแก้ปัญหานี้ แนวปฏิบัตินี้กำหนดให้มีการติดป้ายกำกับเนื้อหาออนไลน์ที่สร้างโดยเอไอ ตลอดกระบวนการผลิตและการเผยแพร่ และกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องเพิ่มเครื่องหมายที่มองเห็นได้ชัดเจน ในตำแหน่งที่เหมาะสมบนเนื้อหาประเภทดังกล่าว
นอกจากนี้ ซีเอซียังกำหนดห้ามไม่ให้องค์กรหรือบุคคลใดทำการลบ แทรกแซง ทำปลอม หรือปกปิดป้ายกำกับนั้นด้วย.
ข้อมูล : XINHUA
เครดิตภาพ : AFP