พล.อ.อ.มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ในปี 2568 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) จะเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยด้านการบินของประเทศไทย ทั้งการกำกับดูแลความปลอดภัย (USOAP) และการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน (USAP) โดยปลายเดือน ส.ค. 68 จะเข้ามาตรวจ USOAP ก่อน ซึ่ง กพท. ได้แจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบแล้ว อาทิ สายการบิน สนามบิน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบิน เพื่อเตรียมพร้อมเข้ารับการตรวจสอบดังกล่าว โดยที่ผ่านมาแต่ละส่วนให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน กพท. ก็กำกับดูแลเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดมาตลอด จึงมั่นใจว่าผลการตรวจสอบครั้งนี้จะผ่านพ้นไปได้

พล.อ.อ.มนัท กล่าวต่อว่า การตรวจของไอเคโอจะเป็นการสุ่มตรวจ ซึ่งจะไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะตรวจสนามบิน หรือสายการบินใด เบื้องต้นจะใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 1 สัปดาห์ หากผลการตรวจสอบของไอเคโอ พบว่า มีข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย ก็จะให้เวลาในการแก้ไข และมาตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง หากไม่ผ่านมาตรฐาน ไอเคโอก็จะประกาศติดธงแดงประเทศไทยบนเว็บไซต์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะจะเป็นการแสดงว่า ประเทศไทยมีการดูแลด้านความปลอดภัยการบินพลเรือนที่ไม่ได้มาตรฐานไอเคโอ

พล.อ.อ.มนัท กล่าวอีกว่า สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ สนามบินทุกแห่งต้องมีใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ แต่ขณะนี้ยังมีไม่ครบทุกแห่ง และเป็นโจทย์ยากที่จะทำให้ครบได้ทันก่อนที่ไอเคโอจะเข้ามาตรวจ เพราะสนามบินของไทย มีทั้งอยู่ภายใต้การกำกับของเอกชน รัฐวิสาหกิจ และรัฐ ซึ่งในส่วนของรัฐ ค่อนข้างมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้เวลาในการขออนุมัติงบประมาณ เพื่อนำมาใช้จัดหาอุปกรณ์เพิ่มเติมต่างๆ ในการดูแลความปลอดภัย จึงทำให้ยังมีสนามบินอีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจาก กพท. อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าปัญหานี้สามารถชี้แจงให้ไอเคโอเข้าใจได้

พล.อ.อ.มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)

พล.อ.อ.มนัท กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทุกสนามบินมีความตั้งใจที่จะพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อให้ได้ใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ ซึ่งแต่ละสนามบินก็มีแผนงาน และกรอบเวลาที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะดำเนินการอะไร และอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงเชื่อว่าหากสามารถอธิบายให้ไอเคโอเข้าใจถึงแผนงาน และความตั้งใจที่เราจะทำ ก็จะทำให้สามารถผ่านปัญหานี้ไปได้ นอกจากนี้ยังได้กำชับในส่วนของฝ่ายช่าง และการซ่อมบำรุงของสายการบินต่างๆ ต้องคำนึงถึงมาตรฐานสูงสุด เพราะหากมีสายการบินใดสายการบินหนึ่งไม่ได้มาตรฐาน จะส่งผลถึงภาพรวมมาตรฐานในการซ่อมบำรุงของประเทศไทยทั้งหมดด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยสนามบินของไอเคโอนั้น ทางไอเคโอจะแจ้งให้แต่ละประเทศทราบล่วงหน้าประมาณ 1 ปี ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้แจ้งมาเมื่อปี 2567 ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยถูกไอเคโอประกาศติดธงแดงบนเว็บไซต์เมื่อเดือน มิ.ย. 58 โดยการตรวจในครั้งนั้น ประเทศไทยมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย 33 ข้อ จากนั้นได้มีการแก้ไขข้อบกพร่อง จนกระทั่งเมื่อเดือน ต.ค. 60 ประเทศไทยได้รับการปลดธงแดง พ้นจากการเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบิน.