เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2568 ที่รัฐสภา นายโสภณ มะโนมะยา สว. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ แถลงข่าวกรณีสิทธิบัตรยาภายใต้ความตกลงการค้าเสรี-สหภาพยุโรป (เอฟทีเอ) โดยนายโสภณ กล่าวว่า ตามที่คณะ กมธ.การต่างประเทศ วุฒิสภา ได้มีการพิจารณาศึกษา การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะยกระดับมาตรฐานของประเทศ โดยรัฐบาลได้พิจารณาศึกษาถึงผลประโยชน์และผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับจากการทำความตกลงดังกล่าว พบว่าสิทธิบัตรยาซึ่งอยู่ภายใต้ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญ มีความอ่อนไหว และส่งผลกระทบต่อความมั่นมั่นคงทางยาของประเทศ และการเข้าถึงยาของประชาชนคนไทย ซึ่งจากการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการ
นายโสภณ กล่าวอีกว่า พบว่ามีประเด็นข้อห่วงใยด้วยกัน 4 เรื่อง 1.ขอขยายเวลาไปอีก 5 ปี ซึ่งอาจทำให้ยามีราคาแพงและสามารถอยู่ในตลาดได้นานขึ้น ส่งผลให้การผลิตยาใหม่ที่ถูกว่าเกิดขึ้นได้ช้าลง 2.การผูกขาดข้อมูลยา ซึ่งอาจจะเป็นการปิดกั้นการผลิตยาชื่อสามัญ ส่งผลให้ต้นทุนการรักษาพยาบาลของประชาชนในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น 3.การจำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิบัตรยา ซึ่งอาจทำให้รัฐไม่สามารถจัดหายาในกรณีฉุกเฉินหรือภาวะโรคระบาดได้อย่างทันท่วงที และ 4.การขออนุสิทธิบัตรจากการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของสูตรยา อาจน้ำไปสู่การผูกขาดทางตลาดโดยไม่ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่แท้จริง
นายโสภณ กล่าวอีกว่า จากข้อกังวลดังกล่าว คณะ กมธ.การต่างประเทศ วุฒิสภา ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงได้จัดสัมมนาเรื่อง “สิทธิบัตรยาภายใต้ เอทีเอ ไทย สหภาพยุโรป เป็นโอกาสหรืออุปสรรคในการเข้าถึงยาของประเทศไทย” ขึ้นมาในวันนี้ เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิบัตรยาภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์กับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยาจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ภาคราชการ อาทิ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม ส่วนภาคเอกชน สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) สมาคมไทย อุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (ทีพีเอ็มเอ) และ เอฟทีเอ วอช ร่วมเป็นวิทยากร อันจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อฝ่ายบริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน นายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ สว. ในฐานะรองเลขานุการคณะ กมธ.การต่างประเทศ กล่าวต่อว่า ผลสรุปการจัดสัมมนาวันนี้ แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1.ทุกหน่วยงานเห็นตรงกันว่าสิทธิบัตรยาเป็นหนึ่งในประเด็นที่อ่อนไหวและสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในการเจรจา สหภาพยุโรป เอฟทีเอ โดยรอบที่ 5 กำลังจะจัดขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568 และเชื่อว่ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทย และกรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นตัวแทนการเจรจาเกี่ยวกับสิทธิบัตรยา
นายพรชัย กล่าวอีกว่า 2.ทั้งหน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานเอกชน เห็นพ้องต้องกันว่าเรื่องสิทธิบัตรยา เราไม่สามารถถอยได้ ทางสหภาพยุโรปมีข้อเสนอหลัก 2 ข้อด้วยกัน คือ การยืดเวลาสิทธิบัตรยา จาก 20 ปี ไปเป็น 25 ปี โดยอ้างว่า ประเทศไทยมีความล่าช้าในกระบวนการการพิจารณาขึ้นทะเบียนยา 3.การปกป้องข้อมูลยา คือ ยาใดที่มีการทดลองและทดสอบความปลอดภัยแล้วในต่างประเทศ และนำมาจดสิทธิบัตรในประเทศไทย ประเทศไทยยังไม่สามารถใช้ข้อมูลความปลอดภัยในการทดสอบทดลองยาในการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยได้ เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับการเจรจา
นายพรชัย กล่าวย้ำว่า เราจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมยาในประเทศไทยสามารถป้องภัยได้ ทำให้มีบริษัทยาสามัญมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตยาสามัญในประเทศไทย และบริษัทต่าง ๆ ได้มีโอกาสเข้ามาผลิตยาสามัญต่างมากขึ้น