“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานจากกระทรวงคมนาคม กรณีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี ได้จัดแสดงนิทรรศการโครงการถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) จ.ปทุมธานี ตามแนวทางหลวงหมายเลข 305 (ทล.305 หรือถนนรังสิต-นครนายก ที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ 3 เดือน หลังออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA:อีไอเอ) เสร็จแล้ว รอเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุมัติและจัดทำรายงานโครงการรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP)

รวมทั้งเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ โดยให้กระทรวงการคลังร่วมลงทุนกับเอกชนตามแผนงานจะเริ่มก่อสร้างปี 71 ใช้เวลา 3 ปี เปิดบริการปี 73 แต่จะเร่งบางส่วนให้เปิดบริการปี 2571 ทันเปิดบริการสวนสัตว์แห่งใหม่ บริเวณคลองหก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เต็มระบบประมาณปี 2571 นั้น

ตามแผนพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2) ที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จัดทำ และกระทรวงคมนาคมนำเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบแล้ว รวมทั้งนำเสนอ ครม. รับทราบ เส้นทางรถไฟฟ้าบนถนนรังสิต-นครนายก ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม C ไม่ใช่เส้นทางจำเป็นที่จะดำเนินการทันทีหรือมีศักยภาพในกลุ่ม A-B แต่เป็นเส้นทาง Feeder (Tram ล้อยาง รถเมล์ไฟฟ้า เป็นต้น) โดยมีแผนก่อสร้างช่วงปี 2573

หากประเมินจากแผนงานแล้วไม่น่าจะเปิดบริการทันปี 2571 เนื่องจากเกือบทุกโครงการจะมีความล่าช้าจากแผนงานด้วยต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งจากปัญหาอุปสรรค

อย่างไรก็ตาม หาก อบจ.ปทุมธานี มีแผนเร่งรัดก่อสร้าง สามารถเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตามขั้นตอนได้ โดยเริ่มจากเสนอผ่านกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแล เพื่อพิจารณาก่อน ในส่วนของกระทรวงคมนาคม หากสอบถามความเห็นหรือเสนอมา เช่นเดียวกับที่ส่วนท้องถิ่นอื่นๆ เช่น อบจ.สงขลา และ อบจ.ขอนแก่น เคยเสนอขอก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเอง ก็นำเสนอ คจร. พิจารณามอบหมายให้ดำเนินการได้ โดยปัจจุบันรถไฟฟ้าที่ท้องถิ่นเสนอตัวก่อสร้าง ยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากไม่สามารถหาแหล่งทุนได้เอง และเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนในด้านต่างๆ

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลจ.ปทุมธานี เป็นการผลักดันของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ซึ่งศึกษาเสร็จแล้ว 5 เส้นทาง มีแผนก่อสร้างระยะแรก 2 เส้นทางรวม 24.09 กม. มูลค่าลงทุน 30,000 ล้านบาท ใช้แนวถนนรังสิต-นครนายก และทล.3312 หรือถนนลำลูกกา เส้นทางที่ 1 เริ่มต้นจากสถานีรังสิต (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ผ่านฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ใช้แนวถนนรังสิต-นครนายก ถึงวัดเขียนเขต เลี้ยวขวาไปถนนเลียบคลองสี่ สิ้นสุดที่จุดเชื่อมต่อสถานีคลองสี่ (รถไฟฟ้าสายสีเขียว) ถนนลำลูกกา ระยะทาง 16.66 กม. รวม 12 สถานี

ได้แก่ สถานีรังสิต สถานีต่างระดับรังสิต สถานีรังสิต-นครนายก สถานีคลองสอง 5 สถานีรังสิต-นครนายก 67 สถานีวัดเขียนเขต (สถานีเปลี่ยนถ่าย) สถานีสนิทวงศ์ สถานีทองเกรียง สถานีลาดสวาย สถานีร่วมสุข สถานีอ่อนเปรี้ยว และสถานีคลองสี่ ระยะทางรวม 16.66 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 2 เริ่มต้นที่สถานีวัดเขียนเขต ถนนรังสิต-นครนายก วิ่งตรงไปสิ้นสุดที่สวนสัตว์แห่งใหม่ (คลองหก) ระยะทาง 7.43 กม. มี 6 สถานี ได้แก่ สถานีวัดเขียนเขต (สถานีเปลี่ยนถ่าย) สถานีรังสิต-นครนายก 87 สถานีวงแหวนกาญจนาภิเษก สถานีมูลนิธิมหาราช สถานี รพ.ธัญบุรี และสถานีสวนสัตว์แห่งใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรวิกฤติบนถนนรังสิต-นครนายก และเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีรังสิตและสายสีเขียวที่คูคต รวมทั้งโครงการสวนสัตว์แห่งใหม่