สืบเนื่องจากคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติเห็นชอบให้รับคดีความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ในคดีฮั้ว สว.67 ไว้เป็นคดีพิเศษที่ 24/2568 ด้วยมติชี้ขาด 11 เสียง จากทั้งหมด 18 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง โดยอำนาจของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้มีการเซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 41 รายชื่อ เพื่อสืบสวนและสอบสวนตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 68 ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 68 รายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค. พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับเอกสารจาก สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เลขที่ อส 0033.1/198 ลงวันที่ 19 มี.ค. 68 เรื่อง แจ้งชื่อพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายให้สอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อ้างถึง หนังสือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ด่วนที่สุด ที่ ยธ 0824/0845 ลงวันที่ 11 มี.ค. 68 สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาคำสั่งสำนักงานการสอบสวน ที่ 6/2568 ลงวันที่ 19 มี.ค. 68

ตามหนังสือที่อ้างถึง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้อัยการสูงสุดพิจารณามอบหมาย พนักงานอัยการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรณีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้อนุมัติให้ทำการสอบสวน กรณีการสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการกระทำความผิดตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ.(ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ ข้อ 7 คดีความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ก) (ข) (ค) (ง) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดยลักษณะของการกระทำความผิดดังกล่าว ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญ เป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน อันเป็นลักษณะของความผิดตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ง) ซึ่งตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสอบสวนร่วมกันหรือการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน ในคดีพิเศษระหว่างพนักงานสอบสวนคดีพิเศษกับพนักงานอัยการหรืออัยการทหาร พ.ศ. 2547 กำหนดให้คดีพิเศษดังกล่าว ต้องมีพนักงานอัยการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วมีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานอัยการคนหนึ่งคนใดในสำนักงาน การสอบสวน ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในคดีดังกล่าว สำนักงานการสอบสวน มอบหมายให้พนักงานอัยการตามคำสั่งสำนักงานการสอบสวนที่ 6/2568 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2568 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานพนักงานอัยการร่วมสอบสวนคดีพิเศษคนหนึ่งคนใด ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และขอให้ท่านประสานกับพนักงานอัยการเพื่อกำหนดวันเวลาในการร่วมสอบสวนต่อไป โดยมี ร.ต.อ.โชคชัย สิทธิผลกุล อธิบดีอัยการ สำนักงานการบังคับคดี รักษาการในตำแหน่ง อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นผู้ลงนาม

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เตรียมนัดประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ จำนวน 41 ราย ร่วมกับพนักงานอัยการ 8 ราย เป็นครั้งแรก หลังได้รับเอกสารสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุดเรียบร้อยแล้ว โดยมอบหมายคณะพนักงานสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 1 เข้าร่วม เพื่อสอบสวนพิจารณาแนวทางการทำคดีประเด็นการฟอกเงิน ในวันศุกร์ที่ 21 มี.ค. นี้.