นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า เป็นประธานเปิดตัวมาตรการ กระบะพี่ มีคลังค้ำ ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อ บสย. เอสเอ็มอี ปิกอัพ เพื่อปลุกอุตสาหกรรมยานยนต์ ช่วยพลิกฟื้นบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มากกว่า 2,500 บริษัท และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 21,000 ล้านบาท 

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า มาตรการ กระบะพี่ มีคลังค้ำ เป็นมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ ให้กับ เอสเอ็มอี ที่มีความจำเป็นต้องซื้อรถกระบะใหม่ โดย บสย. จะเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงิน ครอบคลุมหลายอาชีพ เช่น เกษตรกร ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ขนส่งสินค้า ค้าขาย และฟู้ดทรัค เป็นต้น

“อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีถึง 18% ซึ่งประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการผลิตรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก ทั้งนี้ จากยอดผลิตรถยนต์รวมทุกประเภท จากฐานการผลิตของไทยจำนวน 1.477 ล้านคัน เป็นสัดส่วนการผลิตรถกระบะ 1 ตัน เกือบ 50% หรือกว่า 7.3 แสนคัน โดยภาพรวมอุตสาหกรรมช่วงที่ผ่านมา การผลิตเพื่อขายในประเทศและการส่งออกจากเดิมสัดส่วนอยู่ที่ 50:50 แต่ในปี 67 พบว่าตลาดในประเทศหดตัว ทำให้การผลิตเพื่อขายในประเทศลดลงเหลือ 31% ขณะที่การส่งออกเพิ่มเป็น 69% โดยเชื่อมั่นว่าจากมาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ซบเซาให้กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง”

นายสิทธิกร กล่าวว่า จุดเด่นของมาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” ยังช่วยเอสเอ็มอีลดภาระทางการเงิน ด้วยสิทธิประโยชน์ ฟรี! ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปีแรก โดยรัฐบาลกระทรวงการคลังเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ ส่วนปีที่ 4-7 คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันต่ำเพียง 1.5% ต่อปี ค้ำประกันนานสูงสุด 7 ปี หรือ 84 งวด วงเงินค้ำประกันสูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อราย ภายใต้วงเงินค้ำประกันในระยะแรกจำนวน 5,000 ล้านบาท”

ส่วนกลุ่มเป้าหมายคือ เอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายย่อย ที่ขอสินเชื่อเช่าซื้อสำหรับซื้อรถกระบะใหม่เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยเปิดรับคำขอค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 68 และสิ้นสุด 30 ธ.ค. 68 คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ เข้าถึงสินเชื่อได้กว่า 6,250 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบกว่า 5,000 ล้านบาท และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 21,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังช่วยพลิกฟื้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยได้มากกว่า 2,500 บริษัท