“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า บริษัท กรีน เจนเนอเรชั่น เวิลด์ไวด์ จำกัด (GGW) ในฐานะผู้รับจ้างขนย้ายขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศรุ่น Kiha 40 จำนวน 11 คันและ Kiha 48 จำนวน 9 คัน รวม 20 คัน จากประเทศญี่ปุ่น มายังประเทศไทย ได้ดำเนินการถอดแคร่ (โบกี้) ออกจากตัวรถ Kiha 40/48 ทั้ง 20 คัน ซึ่งจอดอยู่ที่สถานีรถไฟแหลมฉบังเรียบร้อยแล้ว ตามกรอบเวลาที่กำหนด วันที่ 17-19 มี.ค. 68 ไม่พบปัญหาใด โดยบริษัทฯ ได้ถอดอุปกรณ์ และจุดเชื่อมต่อต่างๆ ระหว่างโบกี้ออกจากตัวรถ ตามขั้นตอนที่ได้รับการฝึกอบรมจาก JR East (East Japan Railway Company) บริษัทรถไฟในญี่ปุ่นที่มอบรถไฟดังกล่าวให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และได้ยกตัวรถขึ้นนำโบกี้ออก และใช้อุปกรณ์รองตัวรถไว้แทนโบกี้

ส่วนโบกี้ได้ทยอยยกขึ้นขบวนรถไฟบรรทุกยานขนาดหนัก (บขน.) เพื่อนำไปปรับขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อจาก 1.067 เมตร (มาตรฐานญี่ปุ่น) เป็น 1 เมตร (มาตรฐานไทย) ที่โรงงานมักกะสันแล้ว ซึ่งเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 68 ได้ขนโบกี้ไปก่อน 10 คัน และวันที่ 20 มี.ค. 68 ขนไปอีก 10 คัน รวมครบ 20 คัน ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ต้องรอให้ รฟท. ปรับขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อทุกคันให้แล้วเสร็จ จากนั้นจะส่งมอบกลับมาให้บริษัทฯ ดำเนินการประกอบโบกี้เข้ากับตัวรถ และส่งมอบงานงวดสุดท้ายให้กับ รฟท. เพื่อนำไปปรับปรุงขบวนรถต่อไป เป็นอันเสร็จสิ้นงานตามสัญญาจ้าง ส่วนเรื่องค่าปรับส่งมอบงานล่าช้า ผู้รับจ้างยังคงยืนยันว่าหากมีการปรับเกิดขึ้น บริษัทฯ พร้อมต่อสู้ และมั่นใจว่าต่อสู้ได้

การปรับขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อให้เป็น 1 เมตร จะดำเนินการโดยฝ่ายการช่างกล โรงงานมักกะสัน คาดว่าจะเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 68 และจะใช้เวลาในการปรับขนาดล้อแล้วเสร็จครบทั้ง 20 คัน ประมาณ 25 วัน หรือประมาณปลายเดือน เม.ย. 68 ทั้งนี้การปรับขนาดล้อใช้วิธีการเดียวกับการปรับขนาดล้อของรถไฟดีเซลราง Kiha 183 ที่ รฟท. รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่นมาก่อนหน้านี้ โดยจะใช้เครื่อง Press machine หรือเครื่องดันล้อ ในการปรับขนาดล้อ โดย 1 คัน จะมี 8 ล้อ รวมทั้งหมด 20 คัน เป็น 160 ล้อ

เมื่อการปรับขนาดล้อแล้วเสร็จ ฝ่ายการช่างกลฯ จะส่งโบกี้กลับมาให้บริษัทฯ เพื่อดำเนินการประกอบเข้ากับตัวรถที่จอดไว้อยู่ที่สถานีรถไฟแหลมฉบังต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาประกอบประมาณ 3 วันเช่นเดียวกับการถอดโบกี้ออกจากตัวรถ จากนั้นจะนำขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศรุ่น Kiha 40 จำนวน 11 คัน และ Kiha 48 จำนวน 9 คัน รวม 20 คัน กลับมายังโรงงานมักกะสันทางรางรถไฟ เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบระบบต่างๆ และปรับปรุงขบวนรถต่อไป โดยจะทยอยดำเนินการ ตั้งเป้าหมายว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 ประมาณ 6 คัน และทยอยนำออกมาให้บริการประชาชน ซึ่งจะสามารถช่วยเสริมขบวนรถโดยสารที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับการจัดหารถใหม่

สำหรับรถดีเซลราง Kiha 40 และ Kiha 48 ทาง JR East ปลดระวางเมื่อต้นปี 66 รถยังมีสภาพที่ดีพร้อมใช้งาน ไม่โทรมมากเหมือนกับ Kiha 183 ที่ต้องนำมาปรับปรุงค่อนข้างมาก โดยรถดีเซลราง Kiha 40 และ Kiha 48 มีอายุการใช้งานมาแล้วประมาณ 40 ปี ใช้งานได้อีก 10-15 ปี หากซ่อมบำรุงครบตามวาระ ทั้งนี้รถดีเซลราง Kiha 40 มี 68 ที่นั่ง และ Kiha 48 มี 82 ที่นั่งไม่รวมผู้โดยสารยืน แต่ละที่นั่งเป็นเบาะหลังตรง ไม่สามารถปรับเอนได้เหมือน Kiha 183 เป็นเหมือนรถไฟชั้น 3 โดยที่นั่งบนรถ Kiha 40 และ Kiha 48 มีทั้งแบบนั่งตรงข้ามกัน และแบบม้านั่งยาว ส่วนห้องสุขาเป็นระบบปิด (ไม่ปล่อยลงพื้น) แบบนั่งยอง สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง.