นับถอยหลังเหลือเวลาอีกเพียง 2 วัน การอภิปรายไม่ไว้วางใจ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ก็จะเริ่มขึ้น โดยฝ่ายค้านนำโดย “พรรคประชาชน (ปชน.)” จะใช้เวลา 28 ชั่วโมงปฏิบัติการครั้งสำคัญ จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24 -25 มี.ค. ซึ่งถือว่าหนักหนาสาหัสมากพอสมควร ถึงขนาดพรรคเพื่อไทย (พท.) ต้องจัดตั้งทีมพิทักษ์ข้อบังคับการประชุม นำโดย นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน

ขณะที่ “นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพท. แถลงว่า เราจะไม่มีองครักษ์ แต่ทีมของเราชื่อว่าเป็นทีมพิทักษ์ข้อบังคับการประชุม ซึ่งไม่ได้เกิดมาเพราะจะไปประท้วงอะไร หากฝ่ายค้านอภิปรายตรงไปตรงมาทำงานด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน จะไม่มีใครลุกประท้วง และท่านจะได้อภิปรายอย่างสบายๆ แน่นอน เพราะหากมีการประท้วงก็จะตัดเวลาของฝ่ายรัฐบาลออกไป เราเห็นว่าเวทีนี้เป็นเวทีแถลงผลงานของรัฐบาลเช่นกัน

แต่ใครก็เชื่อว่า ทีมที่ตั้งขึ้น เพื่อต้องการปกป้องหัวหน้ารัฐบาล แต่ไม่อยากให้สังคมมีข้อครหา เลยอ้างว่า ต้องการปกป้องข้อบังคับ ดังนั้นถ้าฝ่ายอภิปรายในลักษณะหมิ่นเหม่ผิดข้อบังคับ จะถูกประท้วงแน่ นอกจากนี้บรรดารัฐมนตรีแต่ละกระทรวง คงต้องเตรียมชี้แจง หากมีการพาดพิงถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อเป็นการลดแรงปะทะ ที่จะพุ่งเป้าไปที่นายกฯ นอกจากนี้วันที่ 21 มี.ค. “น.ส.แพทองธาร” ในฐานะหัวหน้าพรรคพท. ยังได้เชิญรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล พูดคุยหารือเตรียมความพร้อมเพิ่มเติมลงรายละเอียดในหัวข้อต่างๆ เพื่อรับมือประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน โดยการรับประทานอาหารค่ำร่วมกันครั้งนี้ ถือเป็นนอกรอบนัดพิเศษ ที่โรงแรมโรสวูด โดยหัวหน้ารัฐบาลคงขอความร่วมมือ ทั้งเรื่องการช่วยชี้แจง และประสานงานในเรื่องข้อมูล เพื่อนำมาชี้แจงหากถูกซักถาม

อย่าลืม “นายรังสิมันต์ โรม” สส.พรรคปชน. ให้ความเห็นถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ว่า ยืนยันรอบนี้สะเทือนแน่นอน คงไม่ได้มาพูดให้ดูน่าตื่นเต้น ได้เห็นข้อมูลแล้วค่อนข้างมั่นใจว่ารอบนี้คุณแพทองธาร เหนื่อยแน่นอน เพราะหลักฐานหลายๆ อย่างค่อนข้างมัดตัว และมัดตัวชนิดที่ว่านึกไม่ออกว่า คุณอิ๊งค์ จะดิ้นหลุดได้อย่างไร ฉะนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เชื่อว่าประสิทธิภาพของการอภิปรายจะส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาล

“ไม่ใช่ต้องการล้มรัฐบาล แต่ก็ต้องว่ากันไปตามพยานหลักฐาน ว่ากันไปตามปัญหาที่ น.ส.แพทองธาร ได้ก่อเอาไว้ อย่าไปคิดว่า น.ส.แพทองธาร ทำหน้าที่มาไม่กี่เดือนแล้วมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นั่นไม่ใช่ แต่ต้องบอกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ ในยุคสมัยของ น.ส.แพทองธาร มีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ในอดีต ตั้งแต่ยุคของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ จนถึงปัจจุบัน บางเรื่องอาจจะทำไปโดยที่ น.ส.แพทองธาร ก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ” นายรังสิมันต์ กล่าว

งานนี้ต้องรอดู “นายกฯ แพทองธาร” จะเอาตัวรอดจากการตรวจสอบทางการเมืองครั้งสำคัญไปได้หรือไม่ เพราะมีผลต่อรัฐบาล และพรรคพท. ซึ่งหวังจะคว้าชัยชนะ กลับมาเป็นแกนนำรัฐบาลอีกครั้ง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ถ้าบอบช้ำจากศึกซักฟอกครั้งนี้ อนาคตไปต่อทางการเมืองคงจะยากพอสมควร

แต่ที่ยังเป็นปมร้อนเกี่ยวข้อง “พรรคสีส้ม” คือกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งข้อกล่าวหา อดีต 44 สส.พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กระทำการจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมี 25 สส.พรรคปชน.ติดร่างแหตามไปด้วย ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นตัวตึงของพรรค เช่น “เท้ง” นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคปชน. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร นายรังสิมันต์ โรม

โดย “นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ” เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าในคดีนี้ว่า จะเริ่มต้นจากการเชิญมารับทราบข้อกล่าวหา ทั้งนี้ บุคคลที่ไม่ได้มารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตัวเองมีจำนวนมากกว่าบุคคลที่มารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อเราส่งไปที่อยู่ตามทะเบียนบ้านถือว่าเขารับทราบแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมาถึงขั้นตอนชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว แสดงว่าภายในปีนี้อาจจบได้ นายสาโรจน์ กล่าวว่า จะภายในปีนี้หรือภายในครึ่งปีนี้ขึ้นอยู่กับความครบถ้วนสมบูรณ์ของการไต่สวน ซึ่งถ้าดูตามขั้นตอนการดำเนินการไต่สวนถือว่าดำเนินการมาในขั้นตอนท้ายๆ แล้ว คือ ขั้นตอนให้โอกาสแก้ข้อกล่าวหาแล้ว ต่อไปเป็นเรื่องของการสรุปสำนวนเพื่อพิจารณา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงขั้นตอนชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

เมื่อถามว่า คดีนี้พิจารณาเป็นรายบุคคล หรือรวมกันทั้งหมด นายสาโรจน์ กล่าวว่า หลักในการพิจารณาพฤติการณ์การกระทำความผิด ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล เว้นแต่ว่ามีพฤติการณ์ในส่วนไหนที่เป็นการร่วม ซึ่งคือการกระทำอันเดียวกัน เป็นหลักทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ หลักในการพิจารณาสำนวนต้องพิจารณาพฤติการณ์การกระทำความผิด ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม ไม่ได้เป็นการพิจารณาในภาพรวม ไม่ใช่แบบนั้น เรื่องสอบสวนทางอาญาและจริยธรรมจะคล้ายๆ กัน

ก่อนหน้านี้ สส.พรรคปชน. จะร่วมกันใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 236 ในการเข้าชื่อให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของทั้งสองสภา เพื่อยื่นประธานรัฐสภาถอดถอน “นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข” ประธาน ป.ป.ช. จากกรณีคลิปหลุด นายสุชาติ พูดคุย กับนายวันมูหะมัดมอร์ มะทา ประธานสภา เนื่องจากอาจมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อาจเป็นการเข้าไปวิ่งขอความเห็นเพื่อต่อคดีความต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่

ดูขั้นตอนแล้วเชื่อว่า การพิจารณาคดีในเรื่องนี้คงใช้เวลาพอสมควร เพราะบุคคลที่ไม่ได้มารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตัวเองมีจำนวนมากกว่าบุคคลที่มารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตัวเอง หรืองานนี้ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจะใช้วิธียื้อกระบวนการสอบสวน เพื่อให้เวลานานที่สุด

ส่วนอีกประเด็นที่หลายคนติดตามอยู่ คือ “นายแสวง บุญมี” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกร้องเรียนจากการทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้ง สว. และเรียกร้องให้พักการปฏิบัติหน้าที่ แต่ในที่สุด “นายอิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกต.ได้ยกคำร้อง

โดย “นายอิทธิพร” ได้ลงนามคำวินิจฉัย กกต. โดยมีคำสั่งยกคำร้อง กรณีผู้ร้องยื่นร้อง นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. โดยอ้างว่าก่อนการประกาศผลการเลือก สว. เลขาธิการ กกต. กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ด้วยการได้มาซึ่ง สว. มาตรา 32 อ้างว่าเลขาธิการ กกต. หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการขัดขวางมิให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบคำสั่งต่างๆ เกี่ยวกับการเลือก สว. ซึ่งจากการสืบสวนหาข่าวไม่พบว่ามีแหล่งข่าวหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่ากลุ่มการเมืองได้จัดตั้ง หรือส่งกลุ่มบุคคลมาสมัครรับเลือกเพื่อลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ส่วนกรณีการแต่งกายของผู้มีสิทธิเลือกที่จะสวมใส่ที่มีเสื้อสีเดียวกัน ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกกระทำการดังกล่าว

ประกอบกับช่วงเวลาการเลือกนั้น อยู่ในห้วงการจัดงานเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ และรัฐบาลได้รณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนแต่งกายด้วยสีเหลือง ที่มีตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติฯ ดังนั้นการที่ผู้มีสิทธิเลือกสวมเสื้อสีเหลืองมาในวันเลือกระดับประเทศไม่ใช่เรื่องผิด และจากการตรวจสอบสถานะภาพสมาชิกพรรคการเมืองของผู้มีสิทธิเลือกระดับประเทศในกลุ่ม 13 จำนวน 147 คน ไม่พบว่าผู้มีสิทธิเลือกนั้นเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และประเด็นที่ผู้มีสิทธิเลือกได้สวมเสื้อที่มีสีเดียวกัน ก็ไม่ได้มีกฎหมายระเบียบห้ามการกระทำดังกล่าว อีกทั้งถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลในการแต่งกาย

โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า เลขาธิการ กกต. ในฐานะผู้ถูกร้อง หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการขัดขวาง มิให้การเลือกเป็นไปตามกฎหมาย หรือตามรัฐธรรมนูญ หรือมีการจัดตั้งหรือส่งกลุ่มบุคคลมารับสมัครเลือกเพื่อลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ตามที่มีการกล่าวหาแต่อย่างใด อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐาน ที่ยืนยันได้ว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายตามข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เลขาธิการ กกต. ไม่กระทำการเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ปี 2561 มาตรา 32 จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ถือว่า “นายแสวง” หลุดพ้นคำร้อง เรื่องการดูแลจัดเลือกตั้ง สว. จากนี้ไปต้องรอดูว่า บรรดา สว.สำรอง จะหาช่องทางร้องเรียน “เลขาธิการ กกต.” ต่อหรือไม่.

“ทีมข่าวการเมือง”