สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ว่า องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) กล่าวเนื่องในวันธารน้ำแข็งโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มี.ค. ของทุกปี ว่านอกเหนือจากแผ่นน้ำแข็งทวีปของกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกา ธารน้ำแข็งแห่งอื่นมากกว่า 275,000 แห่งทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 700,000 ตร.กม. กำลังหดตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ในปี 2567 ธารน้ำแข็งเหล่านี้ สูญเสียมวลสุทธิรวมกัน 450,000 ล้านตัน ตามข้อมูลใหม่จากสำนักงานติดตามธารน้ำแข็งโลก (ดับเบิลยูจีเอ็มเอส) ซึ่งมีฐานอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นปีเลวร้ายที่สุดเป็นลำดับที่ 4 ขณะที่โลกสูญเสียธารน้ำแข็งมากที่สุด เมื่อปี 2566

การสูญเสียมวลธารน้ำแข็งในปีที่แล้วตามภูมิภาคต่าง ๆ เช่น อาร์กติกของแคนาดา และธารน้ำแข็งรอบนอกของกรีนแลนด์ อยู่ในระดับปานกลาง แต่ธารน้ำแข็งในสแกนดิเนเวีย หมู่เกาะสฟาลบาร์ดของนอร์เวย์ และเอเชียเหนือ ถือว่าเลวร้ายสูงสุด เท่าที่เคยมีการบันทึกไว้

รายงานของดับเบิลยูจีเอ็มเอสระบุด้วยว่า ธารน้ำแข็งซึ่งแยกตัวจากแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกา ละลายไปแล้วมากกว่า 9 ล้านล้านตัน นับตั้งแต่เริ่มสังเกตการณ์ เมื่อปี 2518 หรือเทียบเท่ากับขนาดของประเทศเยอรมนี ที่พื้นดินมีความหนาเฉลี่ย 25 เมตร

เนื่องในวันธารน้ำแข็งโลกซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ดับเบิลยูจีเอ็มเอสกำหนดให้ธารน้ำแข็ง “South Cascade” หรือเซาท์ แคสเคด ที่อยู่ในรัฐวอชิงตันของสหรัฐ เป็น “ธารน้ำแข็งแห่งปี” หลังมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2493 และเป็นหนึ่งในธารน้ำแข็งของซีกโลกตะวันตก ที่รักษาความสมดุลของมวลน้ำแข็งมาได้อย่างยาวนาน.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES