วันที่ 31 มี.ค. นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด ยอมรับว่า ยังเร็วไปที่จะประเมินผลกระทบในแง่ของเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากผลกระทบมีหลายช่องทาง ทั้งผลกระทบทางตรง ในแง่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักและทรัพย์สิน รวมถึงผลกระทบที่จะมีต่อความเชื่อมั่น และพฤติกรรมต่างๆ ที่จะเปลี่ยนไป
นอกจากนี้ในเรื่องของภาคการท่องเที่ยว ยอมรับว่า มีภาพข่าวตึกถล่มที่มีความรุนแรง สร้างความกังวลของนักท่องเที่ยวอาจจะมีบ้างในเรื่องการจองตั๋วเครื่องบิน ซึ่งจะต้องติดตามความเชื่อมั่นว่าจะกลับมาได้เร็วแค่ไหน โดยปกติผลกระทบในลักษณะดังกล่าวจะใช้เวลาไม่นานนัก รวมถึงยังไม่เห็นการยกเลิกที่มากขึ้นจนผิดปกติ
ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตามภาคอสังหาริมทรัพย์อาคารสูง ที่จะได้รับผลกระทบในเรื่องของความกังวล ความเชื่อมั่น อาจจะเห็นการชะลอการเช่า และซื้ออาคารสูง ซึ่งได้หารือกัน ที่ระบุว่า ฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า และอุปทานคงค้างที่อยู่ในอาคารคอนโดฯ สูง จะซ้ำเติมผลกระทบที่มีอยู่เดิม ดังนั้นมองไปข้างหน้า ความเชื่อมั่น โครงสร้างอาคาร ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
“เรื่องของแผ่นดินไหว เป็นผลกระทบระยะสั้นช่วงแรก รายได้ประชาชนไม่ได้ถูกกระทบ ธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานยังดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง การบริโภคเองคงได้รับผลกระทบระยะสั้น และฟื้นตัวได้ในระยะต่อไป แต่ทั้งนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป ด้านการบริโภคเอกชนยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในแง่ของสภาพคล่องจะได้รับกลับมาจากการเคลมประกัน และมาตรการภาครัฐที่เข้ามาช่วยเหลือค่อนข้างเยอะ”
ด้านมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือเกณฑ์แอลทีวี ที่ผ่อนปรนล่าสุดนั้น ผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจะมากอยู่แล้ว แต่เป็นการช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีอุปทานคงค้าง แต่ผลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว อาจมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความเชื่อมั่น และความปลอดภัยจะฟื้นตัวได้เร็วมากน้อยแค่ไหน
นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า แนวโน้มในระยะข้างหน้า มองว่า ยังขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว รวมถึงต้องติดตามเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่าจะกระทบต่อภาพรวมการท่องเที่ยวหรือไม่ ขณะเดียวกันยังต้องติดตามความต่อเนื่องของภาคการส่งออก โดยเฉพาะมาตรการของสหรัฐที่จะประกาศในวันที่ 2 เม.ย. นี้ ว่าจะมีทิศทางอย่างไรบ้าง
สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยภาพที่ชะลอลงเป็นไปตามภาคบริการและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงจากเดือนก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.1 ล้านคน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 3.7 ล้านคน หรือลดลง 13.9% ส่วนหนึ่งลดลงเพราะได้เร่งไปแล้วในเดือนก่อนที่มีเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับความกังวลด้านความปลอดภัยในไทย รวมถึงเศรษฐกิจจีนขยายตัวชะลอตัวลง ทำให้นักท่องเที่ยวจีนมีการท่องเที่ยวที่ลดลง อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวด้วย ว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพการท่องเที่ยวหรือไม่