ภายหลังจากที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล ประเด็นการช่วยเหลือเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์วันที่ 28 มี.ค.68 โครงการก่อสร้างที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อาคาร สตง.) แห่งใหม่ ความสูง 30 ชั้น บริเวณตรงข้ามย่านการค้าตลาดนัดจตุจักร ใกล้ MRT กำแพงเพชร ติดสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (บางซื่อ) ตรงข้ามศูนย์การค้า JJ MALL เกิดถล่มลง เนื่องด้วยแรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 7.7 ความลึก 10 กม. บริเวณรอยเลื่อนสะกาย ประเทศเมียนมา
นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรม ยังมี 3 ประเด็นที่มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เร่งพิจารณา เนื่องจากอาจเข้าข่ายความผิด ที่ต้องตรวจสอบ ได้แก่ 1.การประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าว ซึ่งมีการใช้นอมินี ลักษณะมีอำนาจครอบงำในเรื่องของการบริหาร เพื่อพิจารณาว่ามีการกระทำใดเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 2.สินค้าไม่ได้คุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) 3.การจัดซื้อจัดจ้างที่เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (หรือการฮั้วประมูล) ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจาก พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ตอนนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการตรวจสอบและรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องบางส่วนแล้ว เพื่อเตรียมพิจารณารับเป็นคดีพิเศษในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากดีเอสไอมีข้อมูลมาพอสมควร อีกทั้งยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่เราต้องพิจารณา คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (หรือนอมินี) ส่วนอีกข้อกฎหมาย คือ ความผิดเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และนอกจากนี้ ก็ยังมีกฎหมายเรื่องฮั้วประมูล คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
ทั้งนี้ ดีเอสไอจึงอยู่ระหว่างประมวลรายละเอียดและแสวงหาพยานหลักฐานเบื้องต้นตาม 3 ข้อกฎหมายดังกล่าว โดยหากมีพฤติการณ์ พยานหลักฐานที่เข้าเงื่อนไขตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ก็จะสามารถรับไว้ดำเนินการเป็นคดีพิเศษได้ รวมไปถึงการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อดูเรื่องมาตรฐานเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง ส่วนเรื่องนอมินี อาจให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือกรมสรรพากร มาช่วยตรวจสอบได้ด้วย
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยอีกว่า สำหรับการตรวจสอบเรื่องฮั้วประมูล จะต้องมีวงเงินในการเสนอราคาเกินกว่า 30 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนเรื่องการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จะต้องมีมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ 10 ล้านบาท โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเหล็ก ซึ่งจะต้องขอข้อมูลไปทางกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะที่การตรวจสอบเรื่อง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือนอมินี จะต้องมีสินทรัพย์ตามบัญชีแสดงฐานะทางการเงิน ตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ก็จะอยู่ในข่ายที่จะรับไว้เป็นคดีพิเศษได้ อย่างไรก็ตาม อาจไม่จำเป็นต้องรับดำเนินการทั้ง 3 ฐานความผิด แต่สามารถรับดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนได้ หากข้อกฎหมายใดมีมูลมากกว่า ทั้งนี้ การประชุมจะเกิดขึ้นภายหลังรับไว้ดำเนินการเป็นคดีพิเศษ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป อาทิ การแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และการแบ่งหน้าที่การสอบสวน เป็นต้น
“กรณีดังกล่าวแม้จะเป็นภัยธรรมชาติ แต่เกิดเหตุการณ์อาคารของ สตง. ถล่มเพียงแห่งเดียว และเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาล รวมถึงกระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งมีผู้สูญหายจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ปรากฏมีข้อสงสัยและการตั้งคำถามของประชาชนมากมายเกี่ยวกับมาตรฐานวัสดุ รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับกิจการร่วมค้าฯ ที่เป็นผู้ก่อสร้าง ซึ่งดีเอสไอจำต้องทำความจริงให้ปรากฏ” พ.ต.ต.ยุทธนา ปิดท้าย
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสำนักงานรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชั้น 8 อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (อาคารบี) ถนนแจ้งวัฒนะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เป็นประธานการประชุมสรุปสถานการณ์ กรณีอาคารของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ถล่มพังเสียหายในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยมี ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ท.อมร หงษ์สีทอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าว เข้าร่วมประชุม
โดยที่ประชุมมีการรายงานข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวในมิติที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวข้อง เบื้องต้นมีประเด็นที่อาจเกี่ยวข้องกับความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดฯ ไว้ โดยเป็นอำนาจของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่จะมีคำสั่งให้รับเป็นคดีพิเศษได้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงมีข้อสั่งการให้กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค เร่งทำการสืบสวนกรณีดังกล่าว หากพบความผิดที่เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ ให้รีบเสนอมาเพื่อพิจารณาสั่งการให้ทำการสืบสวนสอบสวนและทำความจริงให้ปรากฏโดยเร็ว