เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานในพิธี “รดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทางวัฒนธรรม ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม และผู้บริหารงานวัฒนธรรม เนื่องในเทศกาลสงกรานต์” ประจำปี พ.ศ. 2568 โดยมีนายประสพ เรียงเงิน ปลัดวธ. ผู้บริหารวธ. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม คณะศิลปินแห่งชาติ อาทิ นางสุกัญญา ชลศึกษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์,นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์), นางฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ), รศ.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม), นายสมเศียร พานทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้อง – นักแต่งเพลงลูกทุ่ง),นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน – เพลงฉ่อย), นางพิศมัย วิไลศักดิ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ – นักแสดง) และนายนพพล โกมารชุน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) เป็นต้น เข้าร่วมพิธี

น.ส.สุดาวรรณ กล่าวว่า การจัดงานสืบสานประเพณีสงกรานต์ของวธ.ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สงกรานต์บ้านฉัน สีสัน แบบไทย สุขไกลทั่วโลก” (Once in a Lifetime: Experience Songkran in Thailand) เน้นการจัดงานภายใต้กรอบแนวทาง 4 มิติ 17 มาตรการรณรงค์ ได้แก่ มิติด้านวัฒนธรรม มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม และมิติด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ โดยเน้นเรื่องคุณค่าสาระที่ถูกต้องของวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงาม คำนึงถึงความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่นที่มีภูมิหลังของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

กำหนดจัดงานในพื้นที่ 17 จังหวัด และพื้นที่ส่วนกลางกรุงเทพมหานคร ในส่วนของการจัดงาน 5 เมืองอัตลักษณ์ ได้แก่ 1.การจัดงานประเพณี ป๋าเวณี ปี๋ใหม่เมือง จ.เชียงใหม่ (12-16 เม.ย.) กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ ขบวนแห่รอบคูเมืองเชียงใหม่ นิทรรศการสงกรานต์ล้านนา การแสดงศิลปวัฒนธรรม การทำบุญตักบาตรวันสงกรานต์ 2.การจัดงานวิถีชีวิตชาวอีสาน ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น (8 – 15 เม.ย.) กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์อีสานดั้งเดิม งานสืบสานสงกรานต์วิถีไทยบ้าน รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ เทศกาลดอกคูนเสียงแคน การแสดง แสงสีเสียง การเล่นคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ 3.การจัดงานชลบุรี อัตลักษณ์วิถีชีวิต Pattaya Old Town (17 – 19 เม.ย.) กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ รำวงย้อนยุค การละเล่นพื้นบ้าน การสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์โบราณ ประติมากรรมเจดีย์ทรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 4.การจัดงาน สมุทรปราการ อัตลักษณ์วิถีชีวิตชุมชนมอญ (12 -13 และ 25-27เม.ย.) กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ สาธิตการทำธงตะขาบ การละเล่นพื้นบ้าน (สะบ้ารามัญ) ขบวนรถบุปผชาติ วิถีชีวิตชุมชนมอญ 5.การจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร หนึ่งเดียวในไทย จ.นครศรีธรรมราช (11 – 15 เม.ย.) กิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ สรงน้ำพระบรมธาตุ ประเพณีแห่นางดาน และพิธีโล้ชิงช้า หนึ่งเดียวในไทย

พร้อมด้วย 12 จังหวัดน่าเที่ยว ทั้ง 4 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย น่าน และนครสวรรค์ ภาคกลาง ได้แก่ กาญจนบุรี และลพบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ หนองคาย และสุรินทร์ ภาคใต้ ได้แก่ สงขลา พัทลุง และภูเก็ต และในพื้นที่ส่วนกลาง 5 จุดหมายกรุงเทพฯ ได้แก่ สยาม-สามย่าน (เขตปทุมวัน) ถนนสีลม (เขตบางรัก) ห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ (เขตคันนายาว) วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (เขตพระนคร) ท้องสนามหลวง ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม: www.culture.go.th หรือ Facebook กรมส่งเสริมวัฒนธรรม